ทำงานในญี่ปุ่นโดนหักภาษีอะไรจากเงินเดือนบ้าง? (給与明細を見てみましょう)

เราตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องการขอลดหย่อน ขอคืนภาษีช่วงปลายปี(確定申告、年末調整)รวมไปถึง การขอเนงคิน(厚生年金)คืนเมื่อกลับประเทศไทยด้วย แต่คงจะเข้าใจยากไปนิดค่ะ ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจกันก่อนว่า แต่ละเดือนเราถูกหักเงินค่าอะไรไปบ้าง ในอัตราส่วนเท่าไหร่เนอะก็เลยจะขอมาเขียนอธิบายใน Blog นี้ค่ะ (บอกเลยว่าเนื้อหายาวมาก 😂)

จากประสบการณ์การทำงานในบริษัทญี่ปุ่นมา 2 แห่ง รวมกับการไปแอบส่องดูสลิปเงินเดือน(給与明細)ของสามี ก็พอจะสรุปรายละเอียดของสลิปเงินเดือนได้ตามนี้

1. รายรับ รายได้

รายได้จะแบ่งได้หลายส่วนค่ะ หลักๆ ก็จะมี
เงินเดือน Basic Salary (基本給与),
ค่าตำแหน่ง(役職手当),
ค่าล่วงเวลา OT (残業代) ,
สวัสดิการค่าเช่าบ้าน (住宅手当),
สวัสดิการค่าเลี้ยงดูครอบครัว (家族手当) ,
สวัสดิการค่าเดินทาง(通勤手当) ,
สวัสดิการค่าอาหาร(食事手当) เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งมวลที่เป็นรายได้นี้ ก็จะถูกนำไปหักภาษี และ ประกันต่างๆ ก่อนจะมาเป็นรายได้สุทธิในมือเรา (手取り tedori)

ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของภาษี และ ประกันที่จะถูกหักออกไปกันบ้างค่ะ

2. ภาษี

หลักๆ แล้วเราต้องเสียภาษี 2 ชนิด ถ้าเรามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนดค่ะ

2.1 ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (所得税 โชะโทะคุเซ)
สิ่งแรกที่เราต้องเสียเลยคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือ ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 所得税 โชะโทคุเซ ภาษีนี้จะถูกเก็บเข้าส่วนกลางของประเทศญี่ปุ่นค่ะ

บุคคลผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย นี้ คือ บุคคลที่มีรายได้มากกกว่า 1,030,000 เยน ต่อปี อัตราภาษีจะค่อยเพิ่มเมื่อเรามีรายได้มากขึ้น

การคำนวณภาษีสามารถทำได้จากอัตราภาษีในตารางและสมการด้านล่างค่ะ

https://daily-ands.jp/posts/583e84be73f3212f25bafd2d/

https://daily-ands.jp/posts/583e84be73f3212f25bafd2d/

วิธีการคำนวณ
1. หา 所得 โชโทคุ จากรายได้ 収入ชูนิว รวมทั้งปี จาก ตาราง A
2. คำนวณค่าลดหย่อนส่วนตัว
3. นำ所得 จากข้อ ① และค่าลดหย่อนจาก ② มาคำนวณตามอัตราภาษี จาก ตาราง B

ตัวอย่างการคำนวณภาษีรายได้ ของคนโสด รายได้รวม 5 ล้านเยนต่อปี

①รายได้ 所得 
   = รายได้รวม 年収-(จำนวนเงินลดหย่อน 給与所得控除額)
   = 5,000,000- (5,000,000 x 0.20 + 540,000
   = 5,000,000- 1,540,000
   = 3,460,000

②ลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัว 所得控除
     =ประกันสังคม社会保険料+ลดหย่อนส่วนตัว基礎控除
   =700,000+380,000
     =1,080,000 

③ภาษีรายได้ 所得税
     =①‐② x อัตราภาษี税率 - จำนวนเงินลดหย่อน控除額
     =(3,460,000-1,080,000) x 0.10 -97,5000
     =140,500

ถ้าเราทำการยื่นลดหย่อนภาษี ก็จะได้พิจารณาลดหย่อน หรือ เงินคืนจากภาษีนี้ก่อนเป็นลำดับแรกค่ะ ถ้าได้ลดหย่อนเกินจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ ก็จะได้คืนจากภาษีท้องถิ่นด้วย

ส่วนใครที่รายได้รวมต่อปีไม่ถึง 1,030,000 เยน แต่นายจ้างทำการหักภาษีไปก่อนก็สามารถยื่นขอภาษีคืนได้ที่สรรพากร(税務署 เซมุโชะ)ใกล้บ้านค่ะ เรียกว่า 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ

สำหรับคนที่มีครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือ 扶養 ฟุโย ภาษีตัวนี้จะลดลงค่ะ



2.2 ภาษีท้องถิ่น (住民税 จูมิงเซ)
ภาษีตัวที่ 2 ที่เราจะต้องจ่ายคือ ภาษีท้องถิ่น หรือ จูมิงเซ 住民税 เป็นภาษีที่ทางเมือง หรือเขตเทศบาลที่เราอาศัยอยู่เรียกเก็บเพื่อนำไปใช้จ่ายพัฒนาเมืองที่เราอาศัยอยู่

ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีท้องถิ่นคือ บุคคลที่มีรายได้มากกว่า 1,000,000 เยนต่อปี และจะเริ่มเรียกเก็บในปีถัดไปหลังจากเรามีรายได้เกินกำหนด และ ภาษีที่เรียกเก็บจะใช้รายได้ปีก่อนหน้ามาคำนวณค่ะ (รอบคำนวณ 1 มกราคม -31 ธันวาคม) เริ่มเก็บตั้งแต่ เดือนมิถุนายน ไปจนถึง พฤษภาคม ของปีถัดไป

ข้อควรระวังก็คือ แม้ว่าเราจะไม่ได้ทำงานแล้ว แต่ปีก่อนหน้าเรามีรายได้เกิน ก็ต้องจ่ายภาษีท้องถิ่นในส่วนของปีที่แล้วให้ครบค่ะ

อัตราภาษีอาจจะต่างกันเล็กน้อยแล้วแต่เขตกำหนดค่ะ โดยปกติแล้วภาษีท้องถิ่นจะมี 2 ส่วน คือ ①ภาษีคงที่ต่อปี และ ②ภาษีที่แปรผันตามรายได้ปีก่อนหน้า

ตัวอย่างของเมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโกะ เมื่อมีรายได้ในปีก่อนหน้า 5 ล้านเยน

ภาษีท้องถิ่นต่อปี
     = ภาษีคงที่+ภาษีที่แปรผันตามรายได้ปีก่อนหน้า
     = (5,800x12) + ;3,460,000-1,080,000) x10%
     =307,600

ถ้าเราบริจาคเงินให้ ภาษีบ้านเกิด หรือ ฟุรุซาโตะโนเซ ふるさと納税 แล้ว ก็จะนำมาหักลดหย่อนภาษีท้องถิ่นตัวนี้ได้ค่ะ ได้คืนเป็นของมาแทน


สำหรับคนที่มีครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือ 扶養 ฟุโย ภาษีตัวนี้จะลดลงค่ะ


3. ประกันสังคม

ประกันสังคมจะเริ่มจ่ายเมื่อมีรายได้มากกว่า 1,300,000 เยนต่อปีค่ะ โดยจะใช้ รายได้เฉลี่ย 3 เดือน(標準報酬月額 เฮียวจุนโฮชูเกทสึกะคุ) คือ เดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน เราจะใช้รายได้เฉลี่ยนี้ในการคำนวณการจ่ายประกันในปีนั้นๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ไปจนถึงสิงหาคมของปีถัดไป และตามกฎหมายแล้วบริษัทจะต้องช่วยรับภาระในการจ่ายประกันสังคมให้เราครึ่งหนึ่งค่ะ

ประกันสังคมแบ่งได้ 3 ประเภท ที่เราต้องจ่าย ดังนี้

3.1 ประกันการจ้างงาน (雇用保険 โคะโยโฮะเคง) 
ประกันการจ้างงานเป็นอีกอย่างที่เราต้องจ่ายทุกเดือนค่ะ ถ้าเราเป็นพนักงานประจำ ทางบริษัทก็จะคำนวณและทำการหักจากเงินเดือนของเราทุกเดือน

โดยอาชีพทั่วไปแล้วจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เราชำระเอง 0.3% และ ผู้ว่าจ้างชำระให้เราเพิ่ม 0.6% ของรายได้

ประกันการจ้างงาน = ค่าจ้าง x อัตราค่าประกันการจ้างงาน

ถ้าเข้าระบบประกันนี้แล้ว ถ้าเราเกิดตกงานก็สามารถรับเงินประกันการตกงานได้ตามเงื่อนไขของ Hello Work ค่ะ และผู้ที่จะเข้าประกันชนิดนี้ต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี ณ วันสมัคร

สำหรับคนที่มีครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือ 扶養 ฟุโย จะไม่มีผลกับประกันนี้ เป็นประกันสำหรับเจ้าตัวคนเดียวค่ะ


3.2 ประกันสุขภาพ (健康保険 เคงโคโฮเคง) & ประกันบริบาล(介護保険 ไคโกะโฮะเคง) 
เป็นการชำระค่าประกันสุขภาพให้กับรัฐบาลค่ะ ผู้ที่เป็นพนักงานประจำของบริษัท ก็จะถูกหักค่าประกันตรงนี้ไปจากเงินเดือนเช่นกัน ประกันสุขภาพ จะต้องชำระทุกคนทุกช่วงวัย เพื่อลดค่ารักษาพยาบาล(ที่ประกันครอบคลุม) ให้เหลือ 30% (อีก70% รัฐบาลรับผิดชอบ)

เราเคยเขียนเล่าถึงรายละเอียดของประกันสุขภาพแบบต่างๆ ในญี่ปุ่นไว้ ลองไปอ่านกันได้ค่ะ


อัตราการชำระค่าประกันสุขภาพคือ 9.9% ของรายได้เฉลี่ย 標準報酬月額 เฮียวจุนโฮชูเกทสึกะคุ และบริษัทที่มีสวัสการ 保険完備 จะช่วยเราจ่ายค่าประกันสุขภาพครึ่งหนึ่งค่ะ เหลือจ่ายเอง 4.45% ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 40ปีขึ้นไป จะต้องจ่ายประกันบริบาลเพิ่มจากประกันสุขภาพด้วยอีก 1.73% โดยบริษัทจะช่วยเราจ่ายครึ่งหนึ่งเช่นกัน

ประกันสุขภาพ = รายได้เฉลี่ย 3 เดือน x อัตราค่าประกันสุขภาพของแต่ละจังหวัด

สำหรับคนที่มีครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือ 扶養 ฟุโย ค่าประกันตัวนี้จะไม่ลดหรือเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่อยู่ในอุปการะสามารถเข้าระบบประกันสุขภาพนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมค่ะ


3.3 ประกันเงินบำนาญ (厚生年金 โคเซเนงคิน) 
เงินประกันอีกตัวที่เราต้องจ่ายคือ ประกันเงินบำนาญค่ะ เพื่อเป็นเงินเก็บไว้ใช้ชีวิตหลังเกษียณ ผู้ที่จ่ายเงินประกันบำนาญเข้ากองทุนเป็นระยะเวลา 10 ปี จะสามารถรับเงินบำนาญรายเดือนได้เมื่ออายุครบ 65 ปีค่ะ



อัตราการชำระเงินประกันบำนาญอยู่ที่ 18.3% ของรายได้เฉลี่ย 標準報酬月額 เฮียวจุนโฮชูเกทสึกะคุ โดยที่บริษัทจะช่วยครึ่งหนึ่ง เหลือที่ต้องชำระเอง 9.15% ค่ะ
ประกันบำนาญ = รายได้เฉลี่ย 3 เดือน x อัตราการชำระเงินประกันบำนาญ
เงินบำนาญตัวนี้ไม่สามารถขอลดหย่อนได้ค่ะ แต่จะสามารถขอคืนได้บางส่วนในกรณีที่เป็นคนต่างชาติที่ออกนอกประเทศญี่ปุ่นถาวร

รายละเอียดการขอคืนเมื่อกลับประเทศอ่านได้ที่....
https://www.nenkin.go.jp/international/english/lumpsum/lumpsum.files/H.pdf

สำหรับคนที่มีครอบครัวที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู หรือ 扶養 ฟุโย ค่าประกันตัวนี้จะไม่ลดหรือเพิ่มขึ้น แต่บริษัทจะชำระเงินเข้ากองประกันเงินบำนาญแห่งชาติ(国民年金) ให้กับคู่สมรสที่เราอุปการะ


ตัวอย่างรายได้ และ การจ่ายภาษีต่อเดือน
อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมึน และ งงนะคะ เพราะรายละเอียดเยอะเหลือเกิน แถมไม่ค่อยจะเห็นภาพด้วย งั้นเรามาดูตัวอย่างการคำนวณภาษีกันดีกว่าค่ะ ว่าจะโดนหักอะไรเท่าไหร่กันบ้าง


พอจะเห็นภาพมากขึ้นบ้างไหมคะ? จากตารางด้านบนเป็นตัวอย่างรายได้ 356,875เยนต่อเดือน และอุปการะคนในครอบครัว 2 คน จ่ายภาษีรายได้ และ ประกันสังคม (ยังไม่รวมภาษีท้องถิ่น)

ใครที่อยากลอง Simulation รายได้ ภาษี และ ประกันสังคมสามารถเข้าไปใน link ด้านล่างและลองคำนวณกันดูได้ค่ะ
https://www.humanvalue.jp/tool/tedori/kyuyo_tedori1.php

ส่วนรายได้ต่อปี ราวๆ นี้ มีลูก 2 คน จะใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้ยังไงบ้างนั้น เราก็มีครอบครัวตัวอย่างมาให้ดูกันค่ะ แต๊ แหน่‼️

ส่วนคุณแม่บ้านที่อยากออกไปทำงานนอกบ้านแล้วกังวลเรื่องภาษี ลองอ่านบทความถัดไปนะคะ

แถมรายได้เฉลี่ยของ Salary Man ชาวญี่ปุ่นไว้ให้อ่านเล่นค่ะ

รายการการลดหย่อนและขอคืนภาษีดูได้จาก link ด้านล่างค่ะ


ก็หวังว่าจะพอเห็นภาพกันคร่าวๆ แล้วเจอกันในบทความถัดไปเกี่ยวกับการยื่นลดหย่อนภาษีในญี่ปุ่นค่ะ


ปล.ถ้าชอบบทความใน blog กรุณาช่วย Share นะคะ อย่า Copy กันเลยเนอะ





Post a Comment

0 Comments