มารู้จักระบบประกันการรักษาพยาบาล(医療保険制度 Iryou Hoken Seido)ของประเทศญี่ปุ่นกันสักนิด


ว่ากันว่าคนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ชอบทำประกันมากที่สุดในโลกเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันเงินเก็บ ประกันอัคคีภัย และอีกมากมายค่ะ เฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะมีประกันราวๆ 3 กรมธรรม์เลยทีเดียว

วันนี้แอดมินเลยจะมาชวนคุยเรื่องประกันการรักษาพยาบาลพื้นฐาน(医療保険 Iryou Hoken)ที่คนที่มาอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นควรจะต้องมีติดตัวไว้ค่ะ เพราะค่ารักษาพยาบาลในญี่ปุ่นนั้นแพงมากๆ

ระบบประกันการรักษาพยาบาลของญี่ปุ่นนั้น เป็นการนำเงินประกันที่ผู้ประกันตนชำระทุกเดือนเข้าไปบริหารในกองทุนประกันการรักษาพยาบาล และเมื่อเราป่วยไปหาหมอ ก็จะได้เงินจากกองทุนตรงนี้กลับมาแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลค่ะ ทำให้เราจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนของโรคที่ประกันครอบคลุมได้ถูกลง ราวๆ 70% และถ้าเป็นเด็กเล็กวัยก่อนประถม ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า70ปี ค่ารักษาพยาบาลก็จะถูกลงไปอีกด้วยนะคะ ระบบประกันการรักษาพยาบาลนี้จะบริหารโดยหน่วยงานรัฐของประเทศญี่ปุ่นค่ะ

เช่น ถ้าเราไปหาหมอแล้วมีค่ารักษาพยาบาล 2000 เยน เราก็ชำระแค่ 30% หรือ 600 เยนค่ะ ส่วนที่เหลือทางประกันสุขภาพจะเป็นผู้ชำระให้ทางโรงพยาบาล

ประกันการรักษาพยาบาลที่หน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นบริหารจะมีหลายประเภท หลายชื่อเรียกค่ะ แต่ละประเภทจะกำหนดเงื่อนไขการเข้าระบบของผู้ประกันตนตามอาชีพ และก็ยังแตกต่างกันไปตามองค์กรที่เป็นผู้บริหารประกันการรักษาพยาบาลด้วยค่ะ มีทั้งของรัฐบาล ขององค์กรท้องถิ่นแต่ละเมืองค่ะ

1.ประกันสุขภาพ 健康保険(Kenkou Hoken)
ผู้ที่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนของประกันสุขภาพประเภทนี้ได้คือ พนักงานบริษัทเอกชนในบริษัทเข้าระบบประกันสุขภาพ健康保険 Kenkou Hoken ส่วนบุคคลในครอบครัวที่ผู้ประกันตนอุปถัมป์อยู่ หรือ เป็น 扶養 ฟุโย อย่างลูกและภรรยา ก็สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพประเภทนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติ่มค่ะ

2.ประกันสหภาพแรงงาน 共済組合(Kyosai Kumiai)
ผู้ที่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนของประกันสุขภาพประเภทนี้ได้คือ ข้าราชการ คุณครูในโรงเรียนเอกชนค่ะ ส่วนบุคคลในครอบครัวที่ผู้ประกันตนอุปถัมป์อยู่ หรือ เป็น 扶養 ฟุโย อย่างลูกและภรรยา ก็สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพประเภทนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติ่มค่ะ

3.ประกันนักเดินเรือ 船員保険(Senin Hoken)
ผู้ที่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนของประกันสุขภาพประเภทนี้ได้คือผู้ที่มีอาชีพ นักเดินเรือ กะลาสีเรือ และเจ้าของเรือค่ะ ส่วนบุคคลในครอบครัวที่ผู้ประกันตนอุปถัมป์อยู่ หรือ เป็น 扶養 ฟุโย อย่างลูกและภรรยา ก็สามารถเข้าระบบประกันสุขภาพประเภทนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติ่มค่ะ

4.ประกันสุขภาพแห่งชาติ 国民健康保険 (Kokumin Kenkou Hoken)
ผู้ที่จะเข้าระบบประกันนี้ได้คือ บุคคลทั่วๆไปที่ไม่มีรายได้ เจ้าของกิจการ Freelance นักเรียน นักศึกษาต่างชาติ ที่ไม่ได้เข้าระบบประกันการรักษาพยาบาล 1-3 สามารถยื่นสมัครขอเข้าระบบประกันสุขภาพนี้ได้ที่สำนักงานเขตที่เราอยู่อาศัยค่ะ แต่โดยปกติแล้วพอเราแจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านในเขตนั้นๆ เราจะได้รับจดหมายให้ไปชำระค่าประกันสุขภาพค่ะ


5.ประกันการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ 後期高齢者医療制度 (Kouki koureisha iryou seido)
ผู้ที่จะเข้าระบบประกันนี้ได้คือผู้ที่มีอายุมากว่า75ปี หรือมีผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกายอายุ 65-74ปีค่ะ


ทีนี้มาดูกันค่ะว่าประกันการรักษาพยาบาลคุ้มครองอะไรเราบ้าง?

1. ป่วย หรือ บาดเจ็บภายในประเทศญี่ปุ่น
กรณีเจ็บป่วย หรือได้รับบาดเจ็บเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กองทุนประกันจะช่วยเราจ่ายค่ารักษาพยาบาล 70% และ 80% สำหรับผู้ที่อายุเกิน75ปี และ เด็กเล็กก่อนปฐมวัย (เฉพาะโรคที่ประกันคุ้มครอง) โดยเราสามารถชำระเงินส่วนต่างแค่30% ที่โรงพยาบาลค่ะ แต่อาการบาดเจ็บบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน หรือ อุบัติเหตุจากการทำงานนั้น ประกันการรักษาพยาบาลจะไม่ครอบคลุมค่ะ เราจะต้องไปใช้ประกันภัยการทำงานแทนค่ะ

2. ป่วย หรือ บาดเจ็บต่างประเทศ(นอกประเทศญี่ปุ่น)
ประกันการรักษาพยาบาลของประเทศญี่ปุ่นครอบคลุมไปถึงการรักษาพยาบาลนอกประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกันค่ะ แต่เราต้องออกค่ารักษาพยาบาลไปก่อนทั้งหมด และต้องเตรียมเอกสารใบรับรองแพทย์ ใบเสร็จรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดเป็นภาษาญี่ปุ่น นำกลับมาดำเนินเรื่องขอคืนเงินค่ารักษาพยาบาลเองที่ญี่ปุ่นค่ะ โดยจะมีเจ้าหน้าที่พิจารณาเรื่องการเบิกค่าใช้จ่ายอีกทีค่ะ ซึ่งถ้าเป็นการไปต่างประเทศเพื่อตั้งใจเข้ารับการรักษาโรคที่ต่างประเทศจะไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้**

3. กรณีค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากๆ
ประกันการรักษาพยาบาลจะมีระบบที่กำหนดเพดานค่ารักษาพยาบาล ชื่อ “高額療養費” Kougaku Ryouyohi ในกรณีที่เราเข้ารับการรักษา มีความจำเป็นต้องผ่าตัด หรือแอดมิตพักฟื้นที่โรงพยาบาลแล้วทำให้เกิดค่ารักษาพยาบาลที่สูงมากๆนั้น ถ้าค่ารักษาพยายาลเกินเพดานที่กำหนดไว้ เราสามารถทำเรื่องเบิกคืนได้ค่ะ ซึ่งแต่ละคนจะมีเพดานค่ารักษาพยาบาลที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับรายได้ของแต่ละบุคคล รายได้แต่ละครัวเรือน และเงื่อนไขของประกันที่เราที่อยู่ รายละเอียดตรงนี้แนะนำว่าไปคุยกับหน่วยงานประกันการรักษาพยาบาลที่เราทำประกันอยู่ค่ะ

และในกรณีที่เรารู้ว่าค่ารักษาพยาบาลจะเกินอัตราของเพดานค่ารักษาพยายาลของเราแล้ว ให้ไปเดินเรื่องทำบัตร 限度額適用認定書 Gendogaku tekiyou ninteisho ไว้เพื่อมายื่นให้โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดไปก่อนแล้วค่อยมาขอคืนตามหลังค่ะ

4. การคลอดบุตร
เมื่อมีการคลอดบุตร ประกันการรักษาพยาบาลจะให้ค่าคลอดบุตร 出産一時金 Shussan ichiji kin 420,000 เยน ต่อการคลอดบุตร 1 คนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการแท้งบุตร หรือคลอดบุตรแล้วบุตรเสียชีวิต หรือ เด็กที่เกิดการจากการทำ ivf ถ้าได้รับการตรวจครรภ์และอายุครรภ์เกิน 4เดือน หรือ 85 วัน ก็จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรนี้ค่ะ

ถ้าทารกที่เกิดมามีอาการอัมพาตทางสมอง ผู้ประกันตนจะได้รับเงินชดเชย 30 ล้านเยนค่ะ ถ้าสถานพยาบาลที่เราไปคลอดบุตรเข้าระบบเงินชดเชยผดุงครรภ์“産科医療補償制度” Sanka Iryou hoshou Seido

ถ้าสถานพยาบาลที่เราไปคลอดบุตรไม่ได้เข้าระบบเงินชดเชยผดุงครรภ์ก็จะไม่ได้เงินชดเชย และจะได้เงินค่าคลอดบุตรน้อยกว่า 420,000เยน ค่ะ

ถ้าคุณแม่ทำงานบริษัท นอกจากเงินค่าคลอดบุตรแล้ว ช่วงที่คุณแม่ลาคลอดไม่ได้เงินเดือนจากบริษัท ประกันการรักษาพยาบาลจะจ่ายชดเชยรายได้รายวัน 出産手当shussan teate ให้ในอัตราราวๆ 2/3 ของรายได้เป็นเวลารวม98วัน นับจากก่อนวันคลอดบุตร 42 วัน และ หลังคลอดบุตร 56 วันค่ะ

ซึ่งจำนวนเงินชดเชยที่จะได้รับก็จะขึ้นกับประกันที่คุณแม่ทำอยู่ และ รายได้ก่อนคลอดของตัวคุณแม่เองด้วยค่ะ

5. กรณีเจ็บป่วยจนไม่สามารถทำงานได้
ในกรณีผู้ประกันตนทำงานบริษัทและเข้าระบบประกันสุขภาพ 健康保険 Kenkou Hokenแล้ว ถ้ามีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถไปทำงานได้ ต้องหยุดพักงานเป็นระยะเวลานาน ประกันสุขภาพจะจ่ายค่าชดเชยรายได้ให้เป็นรายวันค่ะ เริ่มตั้งแต่วันที่4 ของการหยุดงาน โดยจะชดเชย 傷病手当 Shoubyou teate ให้ราวๆ 2/3 ของรายได้ของผู้ประกันตน นานสุดถึง 1 ปี 6เดือนค่ะ

ระบบเงินชดเชยนี้มีแค่ในประกันสุขภาพ 健康保険 Kenkou hoken ค่ะ ประกันสุขภาพแห่งชาติ 国民健康保険 Kokumin Kenkou Hoken จะไม่มีระบบชดเชยรายได้ค่ะ

6.กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต
มีเงินช่วยเหลือค่าจัดการศพ 埋葬料(Maisouryou) 50000 เยน ได้รับเป็นเงินสด *จำนวนเงินอาจจะต่างกันตามระบบของประกัน

นอกเหนือไปจากกรณีข้างต้นแล้ว ค่าใช้จ่ายส่วนอื่น เช่น ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ค่าบริการสำหรับการมาเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านของแพทย์และพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการนักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุจราจร(ที่ประกันอุบัติเหตุไม่ครอบคลุม) บางส่วนสามารถเบิกได้เช่นกันค่ะ *รายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ สามารถตรวจสอบได้จากกองทุนประกันการรักษาพยาบาลค่ะ



ขอบคุณเนื้อหาจาก
https://www.med.or.jp/insura/medical/index.html





Post a Comment

0 Comments