รายการลดหย่อนภาษี/ขอคืนภาษีสำหรับผู้มีรายได้ในญี่ปุ่น 20 ประเภท (所得控除、税額控除について)


การทำงานในประเทศญี่ปุ่นนั้น ตามกฎหมายแล้วถ้าเรามีรายได้เกินเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก็จะต้องเสียภาษีให้ถูกต้องค่ะ และถ้าใครทำงานในบริษัทญี่ปุ่นแล้วก็จะถูกหักภาษี และ ประกันสังคม ออกจากเงินเดือนทุกๆเดือน เป็นตัวเลขที่น่าสะพรึงพอสมควรค่ะ ตามที่แอดมินแชร์ข้อมูลไว้ในโพสต์ที่แล้ว😂


วันนี้แอดมินจะมาเล่าถึงในส่วนการยื่นลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนในญี่ปุ่นค่ะ ว่าภาษีแพงๆ ที่จ่ายกันไปทั้งปีนั้นมีอะไรที่พอจะช่วยลดหย่อนแบ่งเบาภาระกันได้บ้าง ในเมื่อที่ญี่ปุ่นไม่มี LTF RMF ให้เราซื้อแบบที่เมืองไทย

สำหรับคนที่ทำงาน ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นคงเคยคุ้นๆกับคำ 2 คำนี้ค่ะ "年末調整 เนนมัทสึโชเซ" และ "確定申告 คะคุเทชิงโคคุ"


ทั้ง 2 คำนี้คือการยื่นปรับ/ยื่นลดหย่อนภาษีเหมือนกันค่ะ แรกๆ แอดมินก็งงๆค่ะ ว่าคืออะไรแตกต่างกันยังไง? จริงๆ แล้ว สำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น 2 คำนี้ หลักๆต่างกันที่ปลายทางของการยื่นเอกสารค่ะ

1. 年末調整 เนนมัทสึโชเซ คือ การยื่นปรับภาษีปลายปีกับ “บริษัทต้นสังกัด” ที่เราทำงาน
2. 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ คือ การยื่นปรับภาษีปลายปีกับ “สรรพากร 税務署”

ตามที่ได้เกริ่นในตอนแรกนะคะว่า ที่ญี่ปุ่นไม่มี LTF หรือ RMF กองทุนให้ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีค่ะ แต่ก็จะมีอย่างอื่นมาให้ยื่นเพื่อลดหย่อนภาษีได้ แอดมินเลยรวบรวมมาให้ว่ามีอะไรที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้บ้าง แล้วต้องทำการยื่นลดหย่อนแบบไหน


รายการลดหย่อนภาษีแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ”ลดหย่อนรายได้ก่อนนำไปคำนวณภาษี(所得控除)” และ ”ขอคืนภาษีหลังคำนวณภาษีแล้ว(税額控除)”

ทีนี้มาดูรายละเอียดกันค่ะ

1.所得控除の一覧 รายการหักลดหย่อนรายได้ก่อนนำไปคำนวณภาษี

  คือ การนำสิทธิลดหย่อนต่างๆ มาหักเงินรายได้ที่จะนำไปคำนวณภาษี ถ้าหักลดหย่อนได้เยอะ ก็จะอาจจะทำให้เรตการคำนวณภาษีลดลง มีทั้งหมด 14 รายการย่อย และสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้นก็มีหลายรายการที่สามารถยื่นลดหย่อนได้กับ"บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ แต่ก็มีบางรายการที่เราจะต้องยื่นเอกสารกับ"สรรพากร" ด้วยตนเอง หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ ค่ะ


1.1 給与所得控除 หักลดหย่อนรายได้ตามขั้นบันได
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
   การหักลดหย่อนรายได้ตามขั้นบันได จะมีกำหนดตารางไว้แล้ว ตอนคำนวณภาษี บริษัทต้นสังกัดของเราจะคำนวณรายได้ทั้งปีของเราคร่าวๆไว้ และทำการหักลดหย่อนรายได้ตามขั้นบันไดตั้งแต่ 650,000-2,200,000 เยนให้เราโดยอัตโนมัติ โดยเราไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติม

วิธิคำนวณเคยเขียนไว้แล้วใน blog เรื่องเงินเดือนนะคะ



1.2 基礎控除 หัดลดหย่อนค่าใช้จ่ายพื้นฐาน
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  เป็นการหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัวค่ะ คนละ 380,000เยน เท่ากันทุกคน ไม่ต้องยื่นเอกสารเพิ่มเติมเช่นกัน


1.3  扶養控除 หักลดหย่อนผู้อยู่ในอุปการะ
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ถ้าผู้เสียภาษีทำการอุปการะเลี้ยงดูคนในครอบครัวก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการอุปการะเลี้ยงดูบุตร(อายุมากกว่า16ปี) หรือ บิดามารดา โดยผู้รับการอุปการะต้องเข้าข่ายเงื่อนไขด้านล่าง
     a) อายุมากกว่า 16 ปี
     b) ครอบครัวนอกเหนือจาก คู่สมรส รวมไปถึงบุตรบุญธรรม
     c) ต้องมีรายได้ค่าใช้จ่ายรวมกับผู้เสียภาษี
     d) รายได้รวมต่อปีน้อยกว่า 1,030,000 เยน
     e) ต้องไม่ทำงานเป็นพนักงานในกิจการครอบครัว

จำนวนเงินในการนำมาลดหย่อนนั้น ขึ้นกับอายุของผู้อุปการะมีตั้งแต่ 380,000เยน ไปจนถึง 630,000เยน

การลดหย่อนข้อนี้ทำแอดมินอึ้งไปเล็กน้อยค่ะ เพราะเข้าใจมาตลอดว่าบุตรที่อายุต่ำกว่า 16 ปี นั้นสามารถนำมายื่นลดหย่อนภาษีได้ แต่ในความเป็นจริงคือลดไม่ได้ค่ะ ‼ เหตุผลที่บุตรอายุต่ำกว่า 16 ปีมาลดหย่อนภาษีไม่ได้เพราะ ได้รับเงินช่วยเลี้ยงดู(児童手当)จากรัฐบาลทุกเดือนแล้ว

  สำหรับชาวต่างชาติอย่างเราๆ สามารถยื่นลดหย่อนการอุปการะบิดามารดา หรือ ครอบครัวที่อยู่ต่างประเทศได้ค่ะ โดยใช้เอกสารยืนยันการโอนเงินค่าเลี้ยงดูไปต่างประเทศ(ปลายทางเป็นชื่อบัญชีของผู้รับอุปการะ และ จำนวนเงินที่เหมาะสมที่จะเรียกว่าเป็นค่าเลี้ยงดู) และ เอกสารยืนยันความสัมพันธุ์กับผู้อุปการะ แอดมินใช้ทะเบียนบ้านมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น


1.4 配偶者控除 หักลดหย่อนคู่สมรส
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 ถ้าผู้เสียภาษีมีคู่สมรสมีรายได้น้อยกว่าที่กำหนดก็สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ ตามเงื่อนไขด้านล่าง
   a) คู่สมรสตามกฎหมาย
   b) ต้องมีรายได้ค่าใช้จ่ายรวมกับผู้เสียภาษี
   c) รายได้รวมต่อปีน้อยกว่า 1,500,000 เยน
   d) ต้องไม่ทำงานเป็นพนักงานในกิจการครอบครัว

ลดหย่อนได้ตั้งแต่ 380,000เยน - 480,000เยน


1.5 配偶者特別控除 หักลดหย่อนคู่สมรสแบบพิเศษ
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 เป็นการยื่นลดหย่อนภาษีคู่สมรสแบบพิเศษค่ะ โดยตัวผู้เสียภาษีจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 12,000,000 เยนต่อปี และคู่สมรสอยู่ในเงื่อนไขด้านล่างนี้
   a) คู่สมรสตามกฎหมาย
   b) ต้องมีรายได้ค่าใช้จ่ายรวมกับผู้เสียภาษี
   c) รายได้รวมต่อปีอยู่ระหว่าง  1,500,000-2,010,000 เยน
   d) ต้องไม่ทำงานเป็นพนักงานในกิจการครอบครัว

ลดหย่อนได้ตั้งแต่ 30,000เยน - 380,000เยน ตามรายได้ของคู่สมรส


1.6 社会保険料控除 หักลดหย่อนเงินประกันสังคม
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ผู้ที่จ่ายประกันสังคม สามารถนำประกันสังคมมาหักลดหย่อนได้ตามจริงค่ะ ประกันสังคม ได้แก่ ประกันสุขภาพ ประกันการจ้างงาน ประกันบริบาล ประกันบำนาญ เป็นต้น
  โดยปกติแล้วทางบริษัทจะมีข้อมูลการหักเงินประกันสังคมเข้ากองทุนอยู่ค่ะ ก็ไม่ต้องยื่นเอกสารอะไรเป็นพิเศษแล้ว
 
  ส่วนผู้ที่ชำระประกันสุขภาพแห่งชาติ 国民健康保険 และ ประกันบำนาญแห่งชาติ 国民年金 แล้วต้องการลดหย่อนภาษี ต้องไปทำการ 確定申告 ยื่นลดหย่อนภาษีเองกับสรรพากรค่ะ


1.7 小規模企業共済等掛金控除 หักลดหย่อนค่างวดผ่อนส่งให้กับสหกรณ์ขนาดเล็ก
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 กรณีที่ผู้จ่ายภาษีมีการทำสัญญา และชำระค่างวด เช่น ประกันชีวิต ประกันเงินบำนาญ กับสหกรณ์ขนาดเล็กก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด


1.8 障害者控除 หักลดหย่อนผู้พิการ
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 กรณีที่ผู้จ่ายภาษี หรือ ผู้ที่อยู่ในอุปการะเป็นผู้พิการสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ สูงสุดถึง 750,000 เยน โดยจะลดหลั่นไปตามเงื่อนไข ผู้ที่จะเข้าข่ายลดหย่อนผู้พิการจะต้องผ่านการตรวจและมีหนังสือรับรองจากแพทย์ค่ะ


1.9 動労学生控除  หักลดหย่อนแรงงานนักเรียน
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีเป็นนักเรียนที่ทำงานเสริม งานพาร์ทไทม์ จะสามารถหักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 270,000 เยน ถ้าตรงตามเงื่อนไขด้านล่าง
   a) มีรายได้จากการทำงาน
   b) รายได้รวมทั้งหมดต่อปี ไม่เกิน 1,300,000 เยน
   c) เป็นนักเรียน นักศึกษา


1.10 寡婦控除、寡夫控除 หักลดหย่อนพ่อหม้ายแม่หม้าย
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีสถานะภาพเป็นแม่หม้ายหรือพ่อหม้ายที่ยังไม่ได้มีคู่สมรสใหม่ จะได้รับสิทธิ์ลดหย่อนนี้ค่ะ ลดหย่อนได้ตั้งแต่ 270,000เยน - 350,000 เยน โดยคุณจะต้องมีบุตร ยังไม่ได้สมรสใหม่ และรายได้ 所得 ไม่เกิน 5,000,000 เยน ต่อปี เอกสารที่ต้องยื่น คือ เอกสารที่รับรองสถานภาพจากเขตค่ะ


1.11 生命保険料控除 หักลดหย่อนประกันชีวิต
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีทำประกันชีวิตเพิ่มเติมไว้กับบริษัทเอกชนเอง สามารถนำค่าประกันชีวิตที่ชำระไปมาลดหย่อนมาภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 40,000เยนค่ะ
  ■ ค่าประกันไม่เกิน 20,000 เยน ลดหย่อนได้ เต็มจำนวน
  ■ ค่าประกัน20,000-40,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/2ของเงินประกัน+10,000เยน
  ■ ค่าประกัน40,000-80,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/4ของเงินประกัน+20,000เยน
  ■ ค่าประกันมากกว่า 80,000 เยนขึ้นไป ลดหย่อนได้40,000เยน


1.12 介護保険料控除 หักลดหย่อนประกันบริบาล
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีทำประกันบริบาลเพิ่มเติมไว้กับบริษัทเอกชนเอง สามารถนำค่าประกันบริบาลที่ชำระไปมาลดหย่อนมาภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 40,000เยนค่ะ
  ■ ค่าประกันไม่เกิน 20,000 เยน ลดหย่อนได้ เต็มจำนวน
  ■ ค่าประกัน20,000-40,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/2ของเงินประกัน+10,000เยน
  ■ ค่าประกัน40,000-80,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/4ของเงินประกัน+20,000เยน
  ■ ค่าประกันมากกว่า 80,000 เยนขึ้นไป ลดหย่อนได้40,000เยน



1.13 個人年金保険料控除 หักลดหย่อนประกันเงินบำนาญส่วนบุคคล
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีทำประกันเงินบำนาญส่วนบุคคลเพิ่มเติมไว้กับบริษัทเอกชนเอง สามารถนำค่าประกันเงินบำนาญส่วนบุคคลที่ชำระไปมาลดหย่อนมาภาษีได้ สูงสุดไม่เกิน 40,000เยนค่ะ
  ■ ค่าประกันไม่เกิน 20,000 เยน ลดหย่อนได้ เต็มจำนวน
  ■ ค่าประกัน20,000-40,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/2ของเงินประกัน+10,000เยน
  ■ ค่าประกัน40,000-80,000 เยน ลดหย่อนได้ 1/4ของเงินประกัน+20,000เยน
  ■ ค่าประกันมากกว่า 80,000 เยนขึ้นไป ลดหย่อนได้40,000เยน


1.14 地震保険料控除 หักลดหย่อนประกันแผ่นดินไหว
   ยื่นลดหย่อนกับ : "บริษัทต้นสังกัด"หรือ 年末調整 เนนมัทสึโชเซ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีทำประกันแผ่นดินไหวให้บ้านหรือเคหสถานของตนเอง สามารถนำค่าประกันมาลดหย่อนภาษีได้

ลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 50,000เยน



1.15 医療費控除(セルフメディケーション税制)ลดหย่อนค่ารักษาพยาบาล
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีและครอบครัวชำระค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 100,000เยนในรอบปีภาษี ก็สามารถนำมายื่นขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 2,000,000เยน คำนวณจากสูตรด้านล่างนี้

  เงินลดหย่อน= ค่ารักษาพยาบาล-(ค่าชดเชยจากประกัน+100,000)



1.16 寄付金控除 ลดหย่อนเงินบริจาค
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
   ในกรณีที่ผู้เสียภาษีทำการบริจาคเงินให้กับภาครัฐ หน่วยงานเทศบาลเมือง หรือ NGO บางองค์กร สามารถนำใบเสร็จมายื่นลดหย่อนภาษีได้ หนึ่งในการบริจาคให้ภาครัฐคือภาษีบ้านเกิด หรือ ふるさと納税

คำนวณจากสูตรด้านล่าง
 เงินลดหย่อน= เงินบริจาค - 2000
(โดยเงินบริจาคต้องไม่เกิน 40% ของ 所得金額 หรือ รายได้หลังหักลดหย่อนขั้นบันได)



1.17 雑損控除 ลดหย่อนค่าเสียหายจิปาถะ
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
   ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีทรัพย์สินเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือ การโจรกรรม(ไม่รวมถึงการหลอกลวงต้มตุ๋น) สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีได้


2.税額控除の一覧 รายการขอคืนภาษีหลังจากคำนวณภาษีแล้ว

  คือ การขอคืนเงินภาษีหลังจากคำนวณภาษีแล้ว มี 19 รายการย่อยค่ะ และสำหรับมนุษย์เงินเดือนแล้วส่วนใหญ่จะต้องยื่นเอกสารกับ"สรรพากร" ด้วยตนเอง มี 8 รายการตามด้านล่างนี้ที่สามารถลดหย่อนได้

 2.1 配当控除 ขอคืนภาษีเงินปันผลหุ้น
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับเงินปันผลของหุ้นสามารถนำมาลดหย่อน 所得税 และ 住民税ได้ ในกรณีที่เรารายงานรายได้จากเงินปันผลรวมกับรายได้หลักของเรา เพื่อไม่ให้เกิดการจ่ายภาษีซ้ำซ้อนกัน เงินปันผลจากหุ้นที่สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด


 2.2 外国税額控除 ขอคืนภาษีจากภาษีที่ชำระในต่างประเทศ
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
   ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายนอกประเทศญี่ปุ่น สามารถนำมาขอคืนได้จำนวนหนึ่ง



2.3 政党等寄付金特別控除 ขอคืนภาษีจากเงินบริจาคให้พรรคการเมือง
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
   ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการบริจาคเงินให้หน่วยงานที่สนับสนุนกิจการของพรรคการเมืองก็สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ คำนวณจากสูตรด้านล่างนี้
   เงินขอคืนภาษี=(เงินบริจาค - 2,000)*30% 

สูงสุดไม่เกิน 25% ของภาษี ณ ที่จ่าย(所得税)และเงินบริจาคจะต้องไม่มากกว่า 40% ของภาษี ณ ที่จ่าย(所得税)


2.4 公益社団法人等寄付金特別控除 ขอคืนภาษีเงินบริจาคให้กองทุนภาคประชาสังคม
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการบริจาคเงินให้กองทุนภาคประชาสังคมก็สามารถนำมาขอคืนภาษีได้ คำนวณจากสูตรด้านล่างนี้
  เงินขอคืนภาษี= (เงินบริจาค - 2,000)*40% 

สูงสุดไม่เกิน 25% ของภาษี ณ ที่จ่าย(所得税)และเงินบริจาคจะต้องไม่มากกว่า 40% ของภาษี ณ ที่จ่าย(所得税)


2.5 (特定増改築等)住宅借入金等特別控除(住宅ローン減税)ขอคืนภาษีจากเงินกู้เพื่อต่อเติมบ้านใหม่(เงินกู้เพื่อนซื้อบ้าน)
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ ในปีที่ 1 ส่วนปีที่ 2-10 สามารถยื่นกับ "บริษัทต้นสังกัด" หรือ 年末調整 ได้
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการกู้เงินธนาคารมาเพื่อต่อเติม ปรับปรุงบ้านของตนเอง ก็สามารถนำยอดเงินกู้ที่เหลือปลายปีมายื่นขอคืนภาษีได้(ตรงตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด) โดยมีสูตรคำนวณค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นกับนโยบายในปีที่เรากู้เงินมาต่อเติมบ้าน สมมติว่าเรากู้เงินในปี 2021 จะมีสูตรคำนวณดังนี้

  เงินขอคืนภาษี= ยอดเงินกู้ในธนาคารปลายปี*1% 
  (ไม่เกิน 400,000เยน ลดหย่อนได้ปีที่ 1-10)


2.6 住宅耐震改修特別控除 ขอคืนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านให้รองรับแผ่นดินไหว
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการต่อเติม หรือ ปรับปรุงบ้านให้สามารถรองรับกับแผ่นดินไหว สามารถนำค่าใช้จ่ายในการต่อเติม(หลังหักเงินช่วยเหลือแล้ว)มาลดขอคืนภาษีได้สูงสุด 10% ของค่าใช้จ่าย (สูงสุด 250,000เยน ตามเงื่อนไขที่กำหนด)


2.7 住宅特定改修特別税額控除 ขอคืนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านเพื่อรองรับผู้สูงอายุ หรือ ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงาน
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
  ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการต่อเติม หรือ ปรับปรุงบ้านของตนเองเพื่อรองรับผู้สูงอายุ หรือ ปรับปรุงบ้านให้ประหยัดพลังงานสามารถนำค่าใช้จ่ายในการต่อเติม(หลังหักเงินช่วยเหลือแล้ว)มาลดขอคืนภาษีได้สูงสุด 10% ของค่าใช้จ่าย (สูงสุด 200,000เยน ตามเงื่อนไขที่กำหนด)


2.8 認定住宅新築等特別税額控除 ขอคืนภาษีจากค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมพิเศษในการสร้างบ้านใหม่ให้มีความคงทนพิเศษตามข้อกำหนด
   ยื่นลดหย่อนกับ : "สรรพากร"หรือ 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ
 ในกรณีที่ผู้เสียภาษีซื้อ หรือ สร้างบ้านใหม่ให้มีคุณสมบัติคงทนแข็งแรงเป็นพิเศษตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มเติมมานี้มาลดขอคืนภาษีได้สูงสุด 10% ของค่าใช้จ่าย (สูงสุด 650,000เยน ตามเงื่อนไขที่กำหนด)



เป็นยังไงกันบ้างคะ พอจะมีหัวข้อไหนที่เราจะไปลดหย่อน หรือ ขอคืนภาษีได้เพิ่มเติมไหมคะ? สำหรับแอดมินส่วนที่ขอภาษีคืนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยที่สุด คือ ขอคืนจากเงินกู้ซื้อบ้านค่ะ ไว้ถ้ามีโอกาสจะค่อยๆ มาเขียนเล่าเจาะลงรายละเอียดของการขอคืนภาษี หรือ การขอลดหย่อนเงินคำนวณภาษีบางตัว สำหรับมนุษย์เงินเดือนกันวันหลังนะคะ เพราะคงมีนไปกันหมดแล้ว 555


ขอบคุณข้อมูลจาก National Tax Agency


ปล.ใครชอบข้อมูล ขอความกรุณาเลยจริงๆนะคะ ว่าช่วย Share นะ อย่า Copy เนื้อหาไปเลย คนเขียนจะหมดกำลังใจเขียนเอา





Post a Comment

0 Comments