ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่แบบนั้นค่ะ มีตัวเลือกให้เราเลือกมากกว่านั้น แต่ไม่ใช่ว่ามีเยอะจนเลือกไม่ถูกนะคะ กลับกันคือ ที่ญี่ปุ่นเด็กเกิดน้อยลงมาก โรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่รับทำคลอดก็น้อยลงไปด้วย ดังนั้นจึงมีส่วนของ Lady Clinic หรือการคลอดกับพยาบาลผดุงครรภ์เป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้นมาค่ะ
ทำอยากไรดี? เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ที่ญี่ปุ่น (日本で妊娠をわかったらどうすればいいの?)
ก่อนอื่นเราขอแสดงความยินดีกับว่าคุณแม่คนใหม่ด้วยนะคะ เย้ 🎉🎉🎉
ถ้าคุณแม่ตั้งท้องและตัดสินใจที่จะคลอดลูกที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะเลือกคลอดที่ไหนดี แต่ละสถานที่มีความแตกต่างกันอย่างไร มีข้อดี ข้อด้อยอย่างไรบ้าง เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ
1. โรงพยาบาลใหญ่ โรงพยาบาลแพทย์ (総合病院・大学病院)
เป็นโรงพยาบาลที่มีหลายวอร์ด มีวอร์ดอื่นๆด้วย นอกจากสูตินรีเวช(産婦人科) เป็นโรงพยาบาลที่มีเตียงมากกว่า 100 เตียง และมีแพทย์ประจำอยู่จำนวนมาก (รวมไปถึงโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทย์ด้วย)ข้อดี มักจะมีวอร์ดเด็ก(小児科) และแพทย์เด็กประจำอยู่ด้วย ถ้าลูกเราต้องได้รับการดูแลจากแพทย์เด็กก็แพทย์มาดูแลได้ทันที รวมไปถึงการฉีดวัคซีนในอนาคต ติดตามพัฒนาการก็สามารถมาที่โรงพยาบาลได้เลย
และในกรณีที่คุณแม่มีความผิดปกติ มีอาการแทรกซ้อนระหว่างคลอด หรือ มีเหตุฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลก็พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที ไม่ต้องมีการส่งต่อค่ะ
ข้อด้อย เนื่องจากมีแพทย์และพยาบาลจำนวนมาก คุณหมอที่ประจำแต่ละวันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราอาจจะได้คลอดกับคุณหมอคนอื่น ที่ไม่ใช่คุณหมอที่ดูแลตรวจครรภ์เราก็ได้ค่ะ รวมไปถึงคนไข้ของโรงพยาบาลที่ค่อนข้างเยอะ ก็จะต้องรอนานเวลาไปหาหมอแต่ละครั้ง
ห้องคลอด และห้องพักฟื้นอาจจะไม่สวยงาม เจริญหูเจริญตาเหมือนกับคลินิก และหลายๆที่อาหารก็จะไม่ค่อยอร่อยด้วยค่ะ (แต่ปัจจุบันนี้หลายโรงพยาบาลก็มีห้องสวยๆ อาหารอร่อยๆ รองรับนะคะ)
ถ้าเป็นโรงพยาบาลใหญ่ หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ก็อาจจะมีน้องๆ Intern เข้ามาเรียนด้วย ความเป็นส่วนตัวอาจจะลดลงไปนิดนึงค่ะ
2. คลินิกเอกชน เลดี้คลินิก (個人の産院 , 産婦人科医院)
เป็นคลินิก หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางที่มีแค่วอร์ดสูตินรีเวช หรือ บางแห่งก็จะมีแพทย์เด็กประจำอยู่ด้วย โรงพยาบาลจะมีเตียงมากกว่า 20 เตียง ส่วนคลินิกจะมีจำนวนเตียงไม่เกิน 19 เตียงค่ะ ขนาดก็จะไม่ใหญ่เท่าโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ข้อดี จำนวนแพทย์และพยาบาลไม่มากนัก ก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากันกับคนไข้ แพทย์ที่ตรวจครรภ์รับผิดชอบเคส ไปจนถึงการทำคลอดก็มักจะเป็นแพทย์คนเดิม ก็จะรู้สึกอุ่นใจค่ะ
สถานที่ ห้องคลอด ห้องพักหลังคลอดมักจะตกแต่งสวยงามเหมือนโรงแรม อาหารคุณแม่หลังคลอดคืออร่อย และสวยงามมาก มีกิจกรรมต่างๆ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ส่วนมากเปิดวันเสาร์ด้วย คุณแม่ที่ทำงานก็สามารถไปหาหมอตรวจครรภ์ได้โดยไม่ต้องลางานค่ะ
ข้อด้อย ในกรณีที่คุณแม่มีอาการแทรกซ้อน หรือ มีเหตุฉุกเฉินระหว่างคลอด ถ้าทางคลินิกไม่มีเครื่องมือพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็อาจจะต้องส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่ค่ะ
3. สถานผดุงครรภ์(助産院)
สถานผดุงครรภ์จะแตกต่างจากโรงพยาบาลตรงที่ผู้ที่ดูแลคุณแม่ตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ไปจนถึงหลังคลอดคือ พยาบาลผดุงครรภ์ค่ะ มีจำนวนเตียงไม่เกิน 10 เตียงข้อดี ราคาถูก บรรยากาศจะสบายๆ เป็นกันเอง เหมือนอยู่บ้านมากกว่า โรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีคุณหมอดูแลเป็นหลักค่ะ
ข้อด้อย คุณแม่ที่จะเลือกคลอดที่สถานผดุงครรภ์นั้น ต้องเป็นคุณแม่ที่แข็งแรง ตั้งครรภ์ปกติ รวมไปถึงทารกในท้องต้องแข็งแรงด้วยเช่นกันค่ะ เพราะถ้ามีความผิดปกติแล้ว ก็จะต้องถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลให้คุณหมอดูแลแทนค่ะ หรือ กรณีผ่าคลอดก็ต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเช่นกัน
จากสถิติแล้วว่ากันว่าคุณแม่ญี่ปุ่นเลือกที่จะคลอดลูกกับ 3 ที่นี้เป็นหลักค่ะ
1. คลินิกเอกชน Lady Clinic(個人の産院) 58.5%
2. โรงพยาบาลรัฐบาล/เอกชน(総合病院)49.5%
3. สถานผดุงครรภ์(助産院)4.7%
4. ที่อื่นๆ 1.0%
โดยส่วนมากเหตุผลหลักที่ใช้ในการตัดสินใจคือ ระยะทางจากบ้านไปโรงพยาบาล การเดินทางสะดวกหรือไม่ ค่าใช้จ่ายในการทำคลอดประมาณเท่าไหร่ การดูแลคุณแม่หลังคลอด ชื่อเสียงของโรงพยาบาล และ บริการการดูแลต่างๆ เป็นต้นค่ะ
ส่วนตัวเรานั้น เลือกคลอดกับโรงพยาบาลใหญ่เนื่องจากเรามีโรคประจำตัว และปัญหาสุขภาพ คุณหมอที่ดูในเรื่องโรคประจำตัวของเราอยู่ที่โรงพยาบาลนี้ก็เลยเลือกคลอดที่โรงพยาบาลเดียวกันเพื่อความต่อเนื่องในการดูแลรักษาค่ะ
นอกจากนั้นระยะทางก็ไม่ไกล ขับรถจากบ้านไปแค่ 10 นาทีเท่านั้น และดูข้อมูลจากเวปไซต์แล้วสถานที่ก็สวยงาม อาหารก็ดูดีค่ะ ราคาก็กลางๆ รวมๆ แล้วมีบาลานซ์ที่ดีทุกด้านก็เลยเลือกโรงพยาบาลนี้ แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยค่ะ
คุณแม่ลองนำข้อมูลไปพิจารณา เลือกสถานที่คลอดลูกกันดูนะคะ
0 Comments