สวัสดิการคุณแม่ตั้งครรภ์ในญี่ปุ่น (日本の出産手当)


ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำมาสักพักแล้วค่ะ ปี2020 ที่ผ่านมามีเด็กทารกเกิดใหม่เพียง 850,000 คนเท่านั้นค่ะ แน่นอนค่ะว่า ทางรัฐบาลก็พยายามที่จะกระตุ้น เชิญชวนให้คู่แต่งงานชาวญี่ปุ่นมีลูกกันเยอะๆ

วันนี้แอดมินจะมา List สวัสดิการ เงินช่วยเหลือคร่าวๆ ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ไปจนคลอดลูกให้ดูกันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง
 
1. ค่าตรวจครรภ์ (妊婦健康診査助成)
พอคุณแม่ตั้งครรภ์ก็จะต้องมีการพบคุณหมอเพื่อฝากครรภ์และตรวจสุขภาพเป็นประจำค่ะ ดังนั้นในแต่ละเขตที่เราอยู่อาศัยก็จะมีสวัสดิการช่วยเหลือตรงนี้ให้ อาจจะต่างกันไปเล็กน้อย เช่น ที่โอซาก้าจะให้ตั๋วตรวจครรภ์ 14 ใบ คิดเป็นเงินแล้วประมาณ 120,000 เยน

2. ค่าคลอดบุตร (出産育児一時金)
ถ้าคุณแม่เข้าระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ(国民健康保険) หรือ ระบบประกันสุขภาพ(健康保険) ถ้าคุณแม่คลอดบุตรหลังอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไปจะได้เงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตรเป็นเงินก้อน 420,000เยน ต่อบุตร1 คน ถ้าเป็นครรภ์แฝดก็จะได้ตามจำนวนบุตรค่ะ
ส่วนมากค่าใช้จ่ายตรงนี้จะครอบคลุมการคลอดแบบธรรมชาติ ถ้าเป็นการผ่าคลอดโดยมีข้อบ่งชี้คุณแม่ก็อาจจะต้องจ่ายส่วนต่างเพิ่ม และใช้ประกันสุขภาพที่ทำไว้ซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายค่ะ

🔷สำหรับคุณแม่ Working Mom ที่ทำงาน และจ่ายประกันสุขภาพแบบ 健康保険 และประกันการจ้างงาน 雇用保険 จะได้สวัสดิการวันลาหยุดและเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านล่างนี้อีกด้วยค่ะ (โดยมีเงื่อนไขคือต้องชำระประกันอย่างน้อย 12เดือนภายในระยะเวลา 2ปีก่อนหน้า)


3. วันลาคลอด และ ลาเลี้ยงดูบุตร (出産休業, 育児休業)
ตามกฎหมายแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์สามารถลาคลอดได้ 6 สัปดาห์ก่อนวันกำหนดคลอดค่ะ และ หลังจากคลอดบุตรแล้วก็สามารถลาเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับเงินช่วยเหลือได้ เบื้องต้นก็จนกว่าบุตรอายุครบ 1 ปี และถ้าไม่สามารถฝากบุตรเข้าเนอสเซอรี่ได้ ก็จะได้ยืดเวลาอีก 6 เดือน ไปจนบุตรอายุ 2 ปีค่ะ

ในส่วนของการลาเลี้ยงลูกนี้ทางฝั่งคุณพ่อเองก็สามารถยื่นขอลาได้เช่นกันนะคะ (แต่มีเงื่อนไขเพิ่มเติมนิดหน่อย)
 
4. เงินสวัสดิการลาคลอดบุตร (出産手当金)
เงินสวัสดิการและเงินช่วยเหลือส่วนนี้จะได้รับจากประกันสุขภาพที่จ่ายให้กับบริษัทที่เราทำงาน หรือ 健康保険 ค่ะ เป็นเงินซัพพอร์ตคุณแม่ที่ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมในช่วงลาเตรียมตัวคลอดและหลังคลอดบุตรค่ะ เพื่อให้คุณแม่ไม่ขาดรายได้และลำบากในการใช้ชีวิต โดยจะแบ่งเป็น 42 วันก่อนคลอด และ หลังคลอด 56 วัน

เงินซัพพอร์ตส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามรายได้ช่วงที่คุณแม่ทำงานค่ะ คร่าวๆก็จะได้ค่าชดเชย 67% ของรายได้เฉลี่ยของ 1 ปีก่อนหน้า คุณแม่ที่แท้งบุตรหลังจาก 4 เดือนหรือบัตรเสียชีวิตตอนคลอดและต้องหยุดพักงานก็สามารถรับเงินสวัสดิการส่วนนี้ได้เช่นกันค่ะ


5. เงินสวัสดิการลาเลี้ยงดูบุตร (育児休業給付金)
เงินสวัสดิการส่วนนี้จะได้หลังจากครบกำหนดการได้เงินช่วยเหลือข้อ 4 ค่ะ โดยจะได้จากการเข้าระบบประกันการจ้างงาน หรือ 雇用保険 ที่คุณแม่ชำระไว้ตอนที่ทำงานนั่นเอง

เงินซัพพอร์ตส่วนนี้ก็จะได้รับต่างกันไปตามรายได้ก่อนลาเลี้ยงของคุณแม่ค่ะ โดยช่วงที่ลาเลี้ยงลูก 180วันแรก จะได้เงินสวัสดิการลาเลี้ยงดูบุตรราวๆ 67% ของรายได้เฉลี่ย1ปีก่อนหน้าค่ะ หลังจากนั้นจะได้ลดลงเหลือ 50% ของรายได้เฉลี่ย1 ปีก่อนหน้า สามารถรับเงินสวัสดิการได้จนบุตรอายุครบ 2ปีค่ะ

6. สวัสดิการลดเวลาทำงานระหว่างวันเพื่อเลี้ยงลูกเล็ก (短時間勤務制度)
กฎหมายกำหนดให้พนักงานที่มีลูกเล็กอายุไม่เกิน 3ปีสามารถยื่นขอลดเวลาการทำงานลงจาก 8 ชั่วโมงเหลือ ไม่เกิน 6 ชั่วโมงต่อวันเพื่อให้เวลากับการดูลูกได้ค่ะ ซึ่งเงินเดือน รายได้ต่างๆก็จะลดหลั่นไปตามเวลาทำงาน ซึ่งตรงนี้บางบริษัทยอมให้ถึงลูกเข้าประถม หรือมากกว่านั้น บริษัทของแอดมินอนุญาตให้ทำงานระยะสั้นได่จนลูกจบประถม 6 เลยล่ะค่ะ

7. การงดเว้นการชำระประกันสังคมให้คุณแม่ในช่วงที่ลาคลอด และลาเลี้ยงดูบุตร (社会保険免除)
ปกติแล้วตอนที่ทำงานอยู่ นอกจากภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว สิ่งที่โดนหักมากมายจากเงินเดือนก็คือประกันสังคมนี่แหละค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ลาคลอดและลาเลี้ยงลูก ประกันสังคมทั้งหมดนี้จะไดรับการงดเว้นไม่ต้องชำระ แต่ยังให้ความคุ้มครองเหมือนเดิม พร้อมทั้งเงินบำนาญเนงคินที่สะสมไว้ก็จะได้รับการสะสมเพิ่มให้เท่ากับช่วงก่อนลาคลอดด้วยค่ะ


🔹สำหรับครอบครัว หรือคุณแม่ที่ประสบปัญหาการมีบุตรยาก ทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีเงินสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือด้วยนะคะ

8. เงินช่วยเหลือการรักษาการมีบุตรยาก (不妊治療助成金)
การรักษาการมีบุตรยากในญี่ปุ่นไม่รวมอยู่ในโรคที่สามารถใช้ประกันสุขภาพได้ค่ะ คุณแม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาเองทั้ง 100% และแพงมากๆ

ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหานี้ค่ะ โดยหลักๆ แล้วจะต้องเป็นการทำเด็กหลอดแก้ว (IVFและ ICSI) เงินช่วยเหลือตรงนี้อยู่ที่ 300,000เยน ต่อครั้งค่ะ นอกจากสวัสดิการสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หลักๆ ที่แอดมิน list มาแล้ว แต่ละเขตแต่ละเมืองก็อาจจะมีเงินสวัสดิการพิเศษของแต่ละเขต เช่น บัตรกำนัลซื้อของใช้สำหรับเด็ก เงินขวัญถุงพิเศษให้อีก 100,000เยน หรือ บัตรส่วนลดต่างๆ ให้อีกด้วยค่ะ

เรียกว่าเปย์เพื่ออยากสนับสนุนให้มีลูกกันน่าดูเลยล่ะค่ะ ไว้บทความหน้าแอดมินจะเอาสวัสดิการสำหรับเด็กมาให้ดูกันนะคะ เจอกันใน part2 ค่ะ

ปล.ใครมีเพิ่มเติมบอกด้วยนะคะ อันนี้คือที่แอดมินนึกออกและหามาได้ค่ะ




Post a Comment

0 Comments