การประดับตกแต่งบ้านในวันปีใหม่ของชาวญี่ปุ่น (お正月飾り)

ช่วงปีใหม่ของญีปุ่นเราก็มักจะเห็นของตกแต่งบ้าน วางขายอยู่เต็มไปหมดเลยนะคะ blog นี้จะมา พูดถึงเรื่องราวการประดับบ้านช่วงปีใหม่ของชาวญี่ปุ่นค่ะ ว่าคืออะไรแล้วเริ่มประดับกันช่วงไหน

ความเป็นมาและความหมาย

พอพูดถึงปีใหม่แล้วก็มีของหลายๆอย่างที่ทำให้นึกถึงปีใหม่นะคะ แต่ของประดับตกแต่งบ้านในช่วงปีใหม่จะมีหลักๆ อยู่ 3 ชิ้นค่ะ โดยทุกชิ้นก็จะเน้นความเป็นศิริมงคล อัญเชิญเทพเจ้า ความโชคดีมาที่บ้านและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายชินโต

1. ประตูต้นสน (門松 Kadomatsu)

ประตูต้นสน หรือ Kadomatsu นี้ เราจะเห็นได้ตามหน้าประตูบ้านเรือน ร้านค้า อาคารสำนักงานต่างๆ โดยมีความเชื่อว่าวางไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชิญให้เทพเจ้ามาประทับที่บ้านของเรา ส่วนมากมักทำจากไม้ไผ่ และ กิ่งสน เพราะต้นสนนั้นมีอายุยืนและไม่แพ้ต่อความหนาวในฤดูหนาว ส่วนต้นไผ่นั้นก็โตไว สูงยาว มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ และอายุที่ยืนยาว

2. เชือกชิเมะคาซาริ (しめ飾り Shimekazari)

เชือกชิเมะคาซารินี้ มีความหมายเหมือนกับพวงเชือกชิเมะนะวะ(しめ縄 shimenawa) ที่ประดับในศาลเจ้าญี่ปุ่น เปรียบเหมือนเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์ การประดับเชือกชิเมะคาซาริจึงหมายถึงการทำให้ท่านเทพเจ้าสบายใจที่จะข้ามเขตแดนมาในโลกมนุษย์ เชือกชิเมะคาซารินั้นโดยปกติแล้วจะประดับอยู่ที่ด้านบนของประตูบ้าน

ชิเมะคาซารินั้น ก็ทำจากเชือก ตกแต่งด้วยกระดาษตัดเฉียงเป็นพู่ ส้ม กุ้ง รวงข้าว และใบเฟิร์น เป็นต้น ซึ่งก็มีความหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ อายุที่ยืนยาว และความสุข

3. คากามิโมจิ (鏡餅 Kagami mochi)

คากามิโมจิ แปลตรงๆ ว่า โมจิกระจก ค่ะ ในสมัยก่อนเชื่อว่ากระจกเป็นสิงของที่มีพลังวิญญาณมาก เป็นสิ่งที่มักจะใช้ทำพิธีกรรมต่างๆ รวมไปถึงมีความเชื่อว่าวิญญาณของมนุษย์ก็มีรูปร่างกลมเช่นกัน โมจิ2ก้อน มีความหมายถึง แสง และ เงา(หยิน หยาง)และการซ้อนกันของโมจิ มีความหมายถึง 円満に年を重ねる หรือ อายุมากขึ้นอย่างราบรื่น หลังจากวันปีใหม่แล้ว คนญี่ปุ่นจะนำโมจิกระจก มาตัดแบ่งทานกัน เรียกว่า 鏡開き kagamihiraki การเปิดกระจก

คนญี่ปุ่นมักจะประดับโมจิกระจกไว้ที่หิ้งพระ หรือ 床の間 Tokono ma พื้นยกในห้องญี่ปุ่นค่ะ แต่จริงๆ เดี๋ยวนี้หลายๆบ้านก็ไม่มีหิ้งพระหรือห้องญี่ปุ่นแล้ว ก็มักจะวางไว้บนโต๊ะแทนค่ะ

เริ่มประดับช่วงไหนบ้าง

เทศกาลปีใหม่เริ่มตั้งแต่ วันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งจะเริ่มประดับวันไหนก็ได้ค่ะ แต่จะมีวันที่ความหมายไม่ค่อยดี 2 วัน ที่อยากให้เลี่ยง
● 29 ธันวาคม :「二重苦」นิจูคุ พ้องเสียงกับความหมายว่า ความลำบากแบบซ้อนสอง
● 31 ธันวาคม :「一夜飾り」อิจิยะคาซาริ ตกแต่งแค่คืนเดียว ซึ่งมีความหมายไม่ดี

สมัยนี้ก็มักจะตกแต่งหลังจากผ่านวันคริสมาสต์ไปแล้วค่ะ ส่วนจะเริ่มเก็บวันไหนนั้นก็จะมีทั้งวันที่ 7 และ 15 มกราคม แต่ส่วนมากในสมัยนี้จะเก็บลงวันกินข้าวต้มกับผัด 7 อย่างเพื่อพักกระเพาะค่ะ




Post a Comment

0 Comments