การส่งไปรษณียบัตรแจ้งไว้ทุกข์ในญี่ปุ่น (喪中ハガキとは?)


ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีธรรมเนียมการส่ง ส.ค.ส. เป็นไปรษณียบัตรช่วงปีใหม่กันอยู่ค่ะ ถึงแม้ว่าจะน้อยลงมากแล้ว และก็มีแนวโน้มจะน้อยลงทุกๆปี

ที่ผ่านๆมา บ้านเรามีส่งบ้างค่ะ ตัวเราเองส่งให้คนในบริษัทที่อยู่แผนกเดียวกัน ส่วนเพื่อนๆ ก็เปลี่ยนเป็นส่ง e-card ไปแล้ว แต่ว่าปีนี้ทางบ้านเราอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว ไม่สามารถส่ง ส.ค.ส. ช่วงปีใหม่ และ รับส.ค.ส. ได้ค่ะ

แล้วคนอื่นจะรู้ได้ยังไงล่ะ???

คำตอบก็คือเราต้องแจ้งอย่างเป็นทางการด้วยการส่งไปรษณียบัตรแจ้งการไว้ทุกข์ หรือ 喪中ハガキ(โมจูฮะกะคิ) ค่ะ

การส่งไปรษณียบัตรแจ้งไว้ทุกข์ จะส่งเมื่อมีคนในครอบครัวชั้นที่ 1 หรือ 2 เสียชีวิต เช่น พ่อ แม่ ลูก คู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ น้อง เป็นต้นค่ะ

หลังจากงานศพเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็จะเริ่มเตรียมไปรษณียบัตรแจ้งไว้ทุกข์ค่ะ และตามมารยาทก็ควรจะส่งไปรษณียบัตรอย่างช้าที่สุดภายในเดือนพฤศจิกายน คือ ก่อนที่ผู้รับจะเตรียมส.ค.ส. ส่งให้เรานั่นเองค่ะ

ส่วนการเตรียมไปรษณียบัตรนั้น เราสามารถซื้อไปรษณียบัตรสำหรับการแจ้งไว้ทุกข์โดยเฉพาะ หรือแบบเป็นไปรษณียบัตรเปล่าๆไม่มีลวดลายมาจากที่ทำการไปรษณีย์แล้วมาพิมพ์ลวดลายและข้อความแจ้งไว้ทุกข์เองได้ค่ะ ถ้าเราไปซื้อแล้วแจ้งว่าไปรษณียบัตรแจ้งไว้ทุกข์ ตรงแสตมป์จะเป็นลายดอกกล้วยไม้ผีเสื้อหรือ 胡蝶蘭 (โคะโจรัน)

ข้อความและลวดลายนั้นมีให้เราเลือก download ได้ฟรีทาง internet ค่ะ ให้เข้า google แล้วค้นหาด้วย keyword 喪中ハガキテンプレート、喪中ハガキ例文 เป็นต้น

https://www.sozai-library.com/sozai/cate/mochu
http://www.art-printsozai.net/frame-mocyu.html

ลวดลายบนไปรษณียบัตรไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาวดำค่ะ นิยมใช้เป็นรูปดอกไม้ ทางบ้านสามีใช้ดอกกล้วยไม้ผีเสื้อ(胡蝶蘭) แต่ส่วนตัวเราเป็นชาวพุทธคิดว่ารูปดอกบัวดูสุภาพ มีความหมายดี แล้วก็เย็นตาดีด้วยนะคะ

ในทางกลับกัน ถ้าเราได้รับไปรษณียบัตรแจ้งไว้ทุกข์จากคนรู้จักแล้ว เราก็ไม่ควรส่ง ส.ค.ส. อวยพรในวันปีใหม่ค่ะ และถ้าต้องการตอบไปรษณียบัตรกลับก็จะเป็นการตอบแบบถามไถ่การไว้ทุกข์ (喪中見舞いはガキ โมจูมิไมฮากาคิ) ตัวอย่างข้อความหาได้ใน google เช่นกันค่ะ



Post a Comment

0 Comments