บันทึกมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น Ep.5: ผ่าตัด พักฟื้น กายภาพบำบัด (私の乳がん日記 Ep.5)



ตามกำหนดการ เรามีคิวผ่าตัดวันที่ 2มิถุนายน เวลา 15:00น. ต้องอดข้าวตั้งแต่ราวๆ 20:00น. ในวันก่อนหน้านี้ และเพื่อป้องกันการขาดน้ำก็ต้องดื่มน้ำ OS ที่ทางโรงพยาบาลจัดไว้ให้หมดก่อนเที่ยงค่ะ จากนั้นก็อาบน้ำสระผม เพราะจะอาบน้ำไม่ได้อีกหลายวันเลยล่ะค่ะ 

เช้าวันนี้ก็ยังมีคุณหมอ คุณพยายาลและ คุณเภสัชกร แวะเวียนมาตรวจ มาอธิบาย และ เอายาที่จัดไว้มาให้ดูค่ะ พร้อมทั้งเจาะน้ำเกลือเตรียมตัวก่อนผ่าตัด 1 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ หมอวิสัญญีหล่อมากค่ะ 55555 อร๊ายยยยใจดียิ้มตลอด และเซอร์ไพรส์ที่สุดคือ คุณหมอเคยอยู่ไทยตอนประถม คุณหมอพูดภาษาไทย(แบบไม่ค่อยชัด) กับอิชั้นด้วยค่าาาา

พอถึงเวลาผ่าตัดพยาบาลก็จะมาพาเราเดินไปห้องผ่าตัดพร้อมสายน้ำเกลือ แบบให้เราเข็นไปเองเลย ความรู้สึกตอนเดินไปห้องผ่าตัดเหรอคะ? ก็ตื่นเต้นดีค่ะ จะได้เจอคุณหมอวิสัญญี 555 เข้าเรื่องๆๆๆ พอมาถึงที่หน้าห้องผ่าตัดก็จะมีพยาบาลมาคอนเฟิร์มรายละเอียดการผ่าตัดกับเราอีกทีว่าไม่ผิดนะ


พอเดินเข้าห้องผ่าตัด เราก็ขึ้นไปนอนบนเตียงผ่าตัด ได้เห็นไฟผ่าตัดแบบใหญ่มากๆ 2 เครื่องอยู่ด้านบน ได้รับยาแก้ปวดที่จะทำให้เรามึนๆ หน่อย แล้วตามด้วยยาสลบค่ะ หลังจากนั้นก็ไม่รู้เรื่องแล้ว ฟื้นจากยาขึ้นมาครั้งแรกที่ห้องผ่าตัดแว้บหนึ่งค่ะ

การผ่าตัดราบรื่นดี และเป็นไปตามรายละเอียดที่คุณหมอเคยอธิบายไว้ก่อนหน้านี้ค่ะ


จำได้ว่าครั้งแรกที่รู้สึกตัวขึ้นมา เจ็บที่แผลตรงรักแร้ที่ผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลมาก ก็เลยได้ยาแก้ปวดเพิ่มทางสายน้ำเกลือ แล้วก็มารู้สึกตัวอีกที ที่เตียงคนไข้ในห้องตัวเองค่ะ

แผลผ่าตัดมี 3 จุดค่ะ 1. เต้านมบริเวณก้อนมะเร็ง 2.รักแร้ข้างซ้าย 3. บริเวณข้างลำตัวเพื่อต่อเดรนรับเลือดและน้ำเหลือง 


ชิ้นเนื้อที่ผ่าออกมาคุณหมอนำไปให้สามีดูและอธิบายรายละเอียดการผ่าตัด ผลการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล(センチネルリンパ節)ในห้องผ่าตัดคือไม่มีการลุกลามมาที่รักแร้ เลยไม่ต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองทำให้การผ่าตัดใช้เวลาราวๆ 1 ชั่วโมง 15 นาที


พอกลับมาที่ห้องพักเราก็ยังได้รับยาแก้ปวด(痛み止め)และยาฆ่าเชื้อ(抗生物質)ทางสายน้ำเกลือ และงดอาหารไปจนเช้าวันรุ่งขึ้น เราก็หลับๆ ตื่นๆ ค่ะ ยังไม่สามารถไปห้องน้ำเองได้ยังต้องเรียกพยาบาลมาคอยช่วยพาไป เพราะเรายังมึนหัวเวลาลุกขึ้นยืน


เราได้เอาน้ำเกลือออกตอน 6 โมงเช้าของวันรุ่งค่ะ ก็เจาะเลือดตรวจ หลังจากนั้นก็ทานข้าวเช้า(รีวิวอาหารในโรงพยาบาลทุกมื้อ) ยาฆ่าเชื้อ และยาแก้ปวด ทุกเช้าเวลา 9 โมง คุณหมอจะมาเชคแผลผ่าตัด ทายาให้ และก็ดูเดรน(くだ)ว่ามีเลือดออกมาแค่ไหน เดรน จะอยู่ในกระเป๋าค่ะ เวลาเดินไปไหนก็ต้องสะพายหรือพกไปด้วย ราวๆ 2-3 วัน ความรู้สึกเหมือนหิ้วเครื่องในเดินไปเดินมา 😂 


ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด เราต้องเริ่มทำกายภาพ(リハビリ)แขนซ้ายข้างที่ผ่าตัด 3 เวลา หลังอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดผังผืด แขนและไหล่ยึด เพราะต่อไปเราต้องไปฉายแสงแขนจะยกไม่ขึ้นค่ะ ทางโรงพยาบาลจะมีท่ากายภาพมาให้เราดูเป็นตัวอย่าง 

 
ช่วงอยู่โรงพยาบาลก็จะไม่มีอะไรทำเท่าไหร่ค่ะ เพราะว่าเป็นช่วง Covid-19 ระบาด ห้ามเยี่ยมทุกกรณี ก็ได้แต่ดูทีวี เล่น Net คุยกับเพื่อนๆ เปิด DVD Concert ที่เตรียมไปแก้เหงาค่ะ หลังผ่าตัดเราอยู่โรงพยาบาลอีก 3-4 วันแล้วก็กลับมาใช้ชีวิตปกติที่บ้าน เริ่มทำงานปกติแบบ WFH หลังผ่าตัด 5 วัน ตอนนี้ก็กลับบ้านได้ 2 สัปดาห์แล้วก็ยังทำกายภาพอยู่ค่ะ แผลยิ่งดีขึ้น ก็รู้สึกว่าแขนถูกดึงรั้งตึงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่สามารถยืดแขนและ ยกแขนได้เหมือนปกติก่อนผ่าตัด 

  

เรามีนัดฟังผลชิ้นเนื้อหลังผ่าตัด 10 วันด้วยค่ะ พอถึงวันนัดก็ไปฟังผลแบบไม่เครียดมาก ผลการตรวจทางพยาธิวิทยาออกมาดีกว่าที่คิด คือเป็น Stage0 (pTisM0N0) แบบแทบไม่เจอเซลล์มะเร็ง สันนิษฐานว่าตอนเจาะไปตรวจคือเข็มดูดออกไปหมดแล้ว เป็นช่วงต้นๆ ของมะเร็งเต้านม ที่ตรวจเจอได้ไวเพราะการคัดกรองที่ดี และการตรวจสุขภาพประจำปีค่ะ 


คุณหมอแจ้งว่ากรณี Stage0 นี้ไม่ต้องรับยาฮอร์โมนก็ได้ แต่อยากให้เข้ารับการฉายแสงที่เต้านมต่อเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำที่เต้านมข้างเดิม(ลดความเสี่ยงได้มากถึง3เท่า) ส่วนการฉายแสงจะฉายยังไง เซตนึงกี่ครั้ง ต้องเข้าพบและปรึกษากับรังสีแพทย์อีกที ซึ่งเป็นอีกโรงพยาบาลหนึ่ง และนัดไว้ปลายเดือนนี้


ช่วงนี้คุณหมอแนะนำให้ใช้เทป 3M Micropore สีน้ำตาล ติดแผลเพื่อช่วยลดแรงตึงของแผลผ่าตัดค่ะ จะช่วยลดการเกิดคีรอยด์ได้ 

สรุป Time Line สักนิด
■xx มีนาคม 2019 :
อัลตร้าซาวด์เจอก้อนที่เต้านมซ้ายให้ Follow ปีถัดไป
■22 กุมภาพันธ์ 2020 :
Follow อัลตร้าซาวด์เต้านมเจอก้อนที่เต้านมซ้าย
■27 มีนาคม 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 1
■3 เมษายน 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 2
■16 เมษายน 2020 :
คอนเฟิร์มผลแลป มะเร็งเต้านมระยะ 0
■27 เมษายน 2020 :
นัดทำ CT Scan
■1 พฤษภาคม 2020 :
ฟังผล CT Scan และ นัดวันผ่าตัด
■27 พฤษภาคม 2020 :
ตรวจ PCR (covid-19)
■29 พฤษภาคม 2020 :
แจ้งผล PCR
■1 มิถุนายน 2020 :
แอดมิทเตรียมตัวผ่าตัด
■2 มิถุนายน 2020 :
ผ่าตัด
■6 มิถุนายน 2020 :
ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน
■16 มิถุนายน 2020 :
ฟังผลชิ้นเนื้อ

Ep ถัดไปเราจะมาเล่าถึงรายละเอียดการฉายแสงกันต่อไปค่ะ
(ตอนเขียน Blog นี้ ยังไม่ได้เข้าปรึกษากับรังสีแพทย์)


Post a Comment

0 Comments