บันทึกมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น Ep.3 : การเตรียมตัว รายละเอียดการผ่าตัด และ ผลข้างเคียง (私の乳がん日記 Ep.3)


หลังจากตอนที่แล้วที่เราทำ CT Scan ไป ก็ถึงเวลานัดฟังผลค่ะ บอกตรงๆว่าเป็น 3 วันที่เราค่อนข้างกังวลมากเลยทีเดียวถึงแม้ว่าผลตรวจชิ้นเนื้อจะเป็นมะเร็งในท่อน้ำนมที่ยังไม่ลุกลามออกนอกท่อ(非浸潤性乳管がん (ฮิชินจุนเซนีวคังกัง)) หรือ DCIS (Ductal carcinoma in situ) 



วันไปฟังผล CT Scan ก็ได้เจาะเลือดไปอีกหลอดใหญ่ค่ะ นำไปตรวจโรคติดต่อต่างๆ เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบB เป็นต้น เพื่อเตรียมตัวผ่าตัดต่อไป (ตัวพรุนไปด้วยรูเข็มฉีดยา)


ผล CT Scan ของเรานั้นปกติ ไม่มีสิ่งผิดปกติ ไม่มีเซลล์มะเร็งลาม(転移 เทนอิ)ไปอวัยวะอื่นๆ อย่างตับ ปอด และต่อมน้ำเหลือง(リンパ腺 ริมปะเซน) เราก็โล่งใจไปมากค่ะ (ปอดไม่อักเสบจาก Covid-19 ด้วย) ก็จะได้พูดคุยนัดวันผ่าตัด และลงรายละเอียดการผ่าตัดกันต่อไป

ตารางห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลว่างเร็วสุดคือวันที่ 2 มิถุนายน 2020 (อีก 1 เดือนถัดไป) คุณหมอแจ้งว่าตอนนี้ยังได้คิวแรกคือผ่าช่วง 14:00 แต่ถ้ามีคิวเพิ่ม แล้วเป็นผู้ป่วยสูงอายุ อาจจะต้องขอแทรกคิวให้ผู้ป่วยสูงอายุก่อน เพราะเรายังอายุน้อย (ว้ายยยย)

คุณหมอเจ้าของไข้เราเป็นคุณหมอผู้หญิงค่ะ ใจดีมาก อธิบายรายละเอียดอย่างใจเย็น และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม และการรักษาอย่างดีมากๆ ถึงแม้ว่าเราไม่มีความรู้ทางด้านการแพทย์เลยคุณหมอก็ยังอธิบายให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ พร้อมกับวาดรูปประกอบ คำศัพท์คำไหนยาก ก็จะกำกับภาษาอังกฤษให้ พอกลับบ้านเราก็ไป Google หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ด้วย


รายละเอียดการผ่าตัด
การผ่าตัด DCIS ของเราจะผ่า 2 จุด
จุดที่ 1 ก้อนมะเร็ง และรอบๆรัศมี 1 cm. ห่างจากขอบก้อนทุกด้าน
จุดที่ 2 บริเวณต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ด้านเดียวกับมะเร็งเต้านม กรณีของเราคือข้างซ้าย เพื่อตรวจเชคว่ามะเร็งลามไปต่อมน้ำเหลืองหรือไม่


คุณหมออธิบายว่ามะเร็งเต้านมนั้นอยู่ใกล้กับต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ ต้องเชคว่ามะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ โดยตัดต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกที่มะเร็งจะกระจายไปออกมาเชค ต่อมน้ำเหลืองต่อมแรกนี้มีชื่อว่า ต่อมเซนติเนล (センチネルリンパ節 เซนติเนลริมปะเซตสึ)ค่ะ

ซึ่งวิธีเชคตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลคือการฉีดสารเรืองแสงเข้าไปที่เต้านมค่ะ ให้สารนั้นเคลื่อนที่ไปยังต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลเพื่อบอกตำแหน่ง

ส่วนการเชคว่ามะเร็งลุกลามมาถึงต่อมน้ำเหลืองหรือไม่นั้น ก็จะทำระหว่างผ่าตัดได้เลย ซึ่งปกติแล้วจะมีเครื่องที่สามารถตรวจเชคได้เลยทันที แต่มะเร็งของเรานั้นมีค่า CK19 เป็น (-) เป็นประเภทที่เครื่องจะตรวจค่าไม่เจอ เลยต้องตรวจสอบแบบ Frozen Section คือนำต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลที่ตัดออกมา ไปแช่แข็งแล้วมากรีดแบ่ง ส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบแทนค่ะ โดยคุณหมอ Pathologist อ่านผลให้ทันทีในระหว่างผ่าตัด ใช้เวลาราวๆ 1 ชั่วโมง

ถ้าเชคได้ว่าไม่มีเซลล์มะเร็งลามมาที่ต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดก็จะเสร็จไวค่ะ ใช้เวลาประมาณ 1-1.5 ชั่วโมง แต่ถ้ามีการลามมาที่ต่อมน้ำเหลืองก็จะต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองข้างรักแร้ออกด้วย ก็น่าจะใช้เวลาเพิ่ม 30 นาที คุณหมอบอกอีกว่า จะมีเดรนเป็นถุงรับน้ำเหลืองต่อออกจากบริเวณรักแร้หลังผ่าตัด แต่จะเอาออกได้ก่อนออกจากโรงพยาบาล


ผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดจากการผ่าตัด
ผลข้างเคียงมีโอกาสเกิดไม่มากค่ะ แต่ก็ต้องแจ้งไว้ให้รับทราบ เช่น การมีเลือดออกหลังการผ่าตัดที่ต้องทำการผ่าตัดแก้ เกิดแผลไหม้ที่ผิวหนัง การอักเสบติดเชื้อ(ป้องกันโดยให้ยาปฏิชีวนะทางน้ำเกลือวันแรก วันต่อๆมาจะเป็นยากิน) มีน้ำมาสะสมบริเวณเต้านมที่ทำการผ่าตัดอาจจะต้องเจาะเอาน้ำออก เป็นต้น

นอกจากนั้นมีการผ่าตัดบริเวณรักแร้ อาจจะเกิดอาการชาบริเวณท้องแขนหลังการผ่าตัด และหลังแผลหายถ้าไม่ทำกายภาพบำบัด อาจจะทำให้เกิดอาการไหล่ติดได้เช่นกัน

และถ้าหากมีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ออกด้วย อาจทำให้มีอาการแขนบวมหลังผ่าตัด ให้งดเจาะเลือดและงดวัดความดันที่แขนข้างนั้น


กระบวนการหลังจากการผ่าตัด
ชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปจะต้องไปตรวจเชคอีกทีค่ะเวลาเป็น DCIS เสตจ0 ตามที่สันนิษฐานไว้หรือไม่ หรือมีการลามออกนอกท่อน้ำนมแล้วกลายเป็นเสตจ1 และการพิจารณาว่าต้องกินยาฮอร์โมนหลังฉายรังสีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผลของการตรวจชิ้นเนื้อที่ผ่าออกไปค่ะ 


ตรวจ PCR ก่อนการผ่าตัด
และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆๆ เราจะต้องตรวจ PCR ก่อนผ่าตัด 1 สัปดาห์ แม้ว่าจะไม่มีอาการบ่งชี้ เป็นนโยบายความปลอดภัยเพิ่มเติมในช่วงนี้ของทางโรงพยาบาล... ใช่แล้วค่ะ เราเป็นผู้ป่วยมะเร็งในช่วง Covid-19 กำลังระบาดอยู่ในญี่ปุ่น และ อยู่ในภาวะฉุกเฉิน 

ทางคุณหมอแจ้งว่านโยบายนี้ เป็นนโยบายของทางโรงพยาบาลดังนั้นค่าใช้จ่ายในการตรวจ PCR ทางโรงพยาบาลจะรับผิดชอบเองทั้งหมด โดยนัดวันเข้าไปตรวจ PCR วันที่ 27 พฤษภาคม และจะแจ้งผลวันถัดมาทางโทรศัพท์
  

สรุป Time Line สักนิด
■xx มีนาคม 2019 :
อัลตร้าซาวด์เจอก้อนที่เต้านมซ้ายให้ Follow ปีถัดไป
■22 กุมภาพันธ์ 2020 :
Follow อัลตร้าซาวด์เต้านมเจอก้อนที่เต้านมซ้าย
■27 มีนาคม 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 1
■3 เมษายน 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 2
■16 เมษายน 2020 :
คอนเฟิร์มผลแลป มะเร็งเต้านมระยะ 0
■27 เมษายน 2020 :
นัดทำ CT Scan
■1 พฤษภาคม 2020 :
ฟังผล CT Scan และ นัดวันผ่าตัด
■27 พฤษภาคม 2020 :
ตรวจ PCR (covid-19)
■28 พฤษภาคม 2020 :
แจ้งผล PCR


Ep ถัดไปเราจะมาเล่าถึงรายละเอียดตอนเข้าโรงพยาบาลผ่าตัดกันค่ะ
(ตอนเขียน Blog นี้ เรารอวันนัดตรวจ PCR ค่ะ ยังไม่ได้เข้าแอดมิดและทำการผ่าตัด)





Post a Comment

0 Comments