บันทึกมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น Ep.1 : การตรวจคัดกรองสำคัญที่สุด (私の乳がん日記 ep1)
มันเป็นความรู้สึกอึ้งๆ อย่างบอกไม่ถูกค่ะ เมื่อคุณหมอแจ้งผลตรวจชิ้นเนื้อว่า “มะเร็ง” (癌 : กัง) แล้วเราก็กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งในตอนที่อาย...
DCIS คืออะไร ?
ผลแลปที่เราเจาะเนื้อเยื่อส่งไปตรวจนั้น บอกกลับมาว่าเราเป็น DCIS หรือ Ductal carcinoma in situ เป็นมะเร็งในท่อน้ำนมระยะไม่ลุกลาม ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 非浸潤性乳管がん (ฮิชินจุนเซนีวคังกัง)ความหมายของระยะของมะเร็ง
แล้วคำว่าระยะ0 หรือ เสตจ0 ในที่นี้หมายถึงอะไร แลเสตจอื่นๆ มีความหมายยังไงบ้างลองมาดูเพิ่มเติมกันอีกสักนิดค่ะระยะ0
ระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม เซลล์มะเร็งระยะ 0 รักษาหายได้
ระยะ1
ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง
ระยะ2
ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตรและเริ่มลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
ระยะ3
ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
ระยะ4
มะเร็งได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นเรียบร้อยแล้ว
แนวทางการรักษา DCIS
การรักษา DCIS หรือ มะเร็งในท่อน้ำนมระยะไม่ลุกลามของเราคือ การผ่าตัดแบบสงวนเต้า(乳房温存術 นีวโบองซงจุทสึ) และการฉายรังสีรักษา(放射線治療 โฮชะเซนจิเรียว)จากนั้นจะพิจารณาว่าจะต้องกินยาฮอร์โมน หรือไม่หลังจากการตรวจชิ้นเนื้อที่ตัดไปอีกครั้ง (ไม่ต้องทำคีโม หรือ เคมีบำบัดเนื่องจากไม่ใช่ระยะลุกลาม)จากภาพที่คุณหมอวาดและอธิบายให้ฟังคือ ก้อนมะเร็งที่เจอเนี่ยเกิดอยู่ที่ท่อน้ำนมตรงจุดสีน้ำเงินซึ่งตอนนี้คาดว่ายังอยู่ในท่อจากการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเรียกว่ามะเร็งในท่อน้ำนมระยะไม่ลุกลาม( DCIS) ภาษาญี่ปุ่นคือ 非浸潤性乳管がん (ฮิชินจุนเซนีวคังกัง) เป็นระยะ 0 แต่ถ้าผ่าตัดแล้วนำก้อนมะเร็งไปตรวจแล้วพบว่าออกมานอกท่อก็จะกลายเป็นมะเร็งเต้านมแบบลุกลามระยะ1 (IDC:Invasive Ductal Carcinoma)ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า 浸潤性乳管がん (ชินจุนเซนีวคังกัง) ก็จะต้องกินยาฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการเป็นมะเร็งซ้ำในอนาคต (ยาฮอร์โมนนี้จะได้ผลเมื่อเซลล์มะเร็งย้อมติดฮอร์โมน หรือมีฮอร์โมนเป็นจานรับสารกระตุ้น คือ progesterone และ estrogen)
ก่อนที่จะนัดวันเพื่อผ่าตัด คุณหมออยากให้เราทำ MRI เพื่อตรวจตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็งให้ชัดเจนขึ้น แต่ในตัวเรามีเหล็กจากการผ่าตัดเมื่อหลายปีก่อนทำให้ไม่สามารถทำ MRI ได้ เลยตัดขั้นตอนนี้ไป
จากนั้น คุณหมอแนะนำให้ทำการตรวจ CT Scan เผื่อไว้ค่ะ เชคว่าไม่มีเซลล์มะเร็งกระจายไปต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น เช่น ตับ หรือ ปอด
แล้วที่โรงพยาบาล มีพยาบาลสำหรับซัพพอร์ตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะช่วยดูแลเคสด้วยค่ะ
การทำ CT Scan
เป็นครั้งแรกสำหรับเราค่ะ ในการทำ CT Scan ตอนแรกคิดว่าคล้ายๆ การX-Ray ฉายรังสีแชะ 2 แชะก็เสร็จ แต่ปรากฎว่ามีมากกว่านั้นเครื่อง CT Scan จะเป็นเครื่องใหญ่คล้ายๆ อุโมง เราจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าและไปนอนบนเตียงโดยยกมือ2ข้างวางเหนือศีรษะ เตียงจะเลื่อนเข้าไปที่เครื่องทำ CT Scan โดยตอนเลื่อนเข้าไป จะมีเสียงเครื่องบอกให้เราหายใจเข้า และกลั้นหายใจไว้ ตอนเครื่องทำงานก็จะได้ยินเสียงเหมือนอะไรหมุนวี้ๆๆๆอยู่ เลื่อนเตียงเข้าออกถ่ายแบบนี้สัก 2-3 ครั้ง และได้พักสักแป๊บค่ะ
ช่วงที่พักอยู่นี่แหละค่ะ ก็จะมีพยาบาลมาฉีดสารทึบแสง(造影剤 โซเอไซ) เข้าเส้นเลือดเพื่อทำ CT Scan ต่อค่ะ กรณีของเรามีก้อนมะเร็งที่เต้านมซ้าย ก็จะฉีดสารทึบแสงเข้าที่ข้อพับแขนข้างขวา ตอนที่เราเห็นหลอดยาสารทึบแสงที่ต้องฉีดแล้ว ตกใจมากกับขนาดหลอดค่ะ ปริมาณ 300ml หลอดใหญ่มาก และเข็มที่ใช้ขนาดเท่าๆกับการให้น้ำเกลือ ตอนเจาะนี่ค่อนข้างเจ็บเลย
พอเจาะเสร็จเรียบร้อย ก็เตรียมเข้าไปถ่าย CT กันต่อค่ะ อีก 2 รอบได้ ครั้งนี้ก็เข้าไปพร้อมกับการฉีดสารทึบแสง พอสารทึบแสงเข้าเส้นเลือดแล้ว เราจะรู้สึกร้อนไปทั้งตัวเลยล่ะค่ะ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าบางคนก็จะเหงื่อออกด้วย มีแต่มือเรานี่แหละค่ะเย็นเจี๊ยบเพราะความตื่นเครื่อง CT คุณพยาบาลก็ใจดีมาคอยจับมือให้กำลังใจ
พอทำ CT Scan เสร็จก็กลับบ้านได้ค่ะ นัดฟังผลอีก 3 วันให้หลัง และเนื่องจากวันนี้ฉีดสารทึบแสงเข้าร่างกายไปเยอะ คุณพยาบาลก็จะเน้นให้เราดื่มน้ำเยอะๆหน่อยเพื่อขับสารออกมาทางปัสสาวะ
สรุป Time Line สักนิด
■xx มีนาคม 2019 :อัลตร้าซาวด์เจอก้อนที่เต้านมซ้ายให้ Follow ปีถัดไป
■22 กุมภาพันธ์ 2020 :
Follow อัลตร้าซาวด์เต้านมเจอก้อนที่เต้านมซ้าย
■27 มีนาคม 2020 :
เจาะชิ้นเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 1
■3 เมษายน 2020 :
เจาะชิ้นเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 2
■16 เมษายน 2020 :
คอนเฟิร์มผลแลป มะเร็งเต้านมระยะ 0
■27 เมษายน 2020 :
นัดทำ CT Scan
■1 พฤษภาคม 2020 :
ฟังผล CT Scan และ นัดวันผ่าตัด
ขอบคุณข้อมูลระยะของมะเร็งจาก
https://www.wattanosothcancerhospital.com/
Ep ถัดไปเราจะมาเล่าถึงรายละเอียดของการผ่าตัดนะคะ คุณหมออธิบายไว้ละเอียดมาก
(ตอนเขียน Blog นี้ เรายังไม่ได้เข้าผ่าตัดค่ะ อยู่ระหว่างรอให้ถึงวันนัด และเตรียมเอกสารต่างๆ)
1 Comments