ถาม-ตอบ”ภาษีการรับให้ “(Gift Tax) ในประเทศญี่ปุ่น (贈与税とは?)


รู้หรือไม่คะ ว่าถ้าพ่อแม่โอนเงิน หรือโอนทรัพย์สินให้ลูกเป็นเงินเก็บ หรือเป็นทุนการศึกษาในอนาคต ถ้าเงินหรือทรัพย์สินนั้นมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ เราจะต้องเสีย”ภาษีการรับให้” (贈与税 : โซโยะเซ) ด้วยค่ะ

ทีนี้เรามาดู ภาษีการรับให้ หรือ 贈与税 ในประเทศญี่ปุ่นกันนะคะ ว่ามีข้อกำหนดอะไรบ้าง?

ภาษีการรับให้คืออะไร?

ภาษีการรับให้ หรือ 贈与税 นั้น เป็นภาษีที่เกิดจากการโอนเงิน หรือทรัพย์สินให้แก่กันในขณะที่ผู้โอนยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นป้องกันการหลีกเลี่ยง หรือ หนีภาษีมรดกค่ะ 

เมื่อไหร่ถึงต้องจ่ายภาษีการรับให้?

ภาษีการรับให้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการโอนทรัพย์สินให้กันระหว่างบุคคลธรรมดา มูลค่ามากกว่า 1,100,000 เยนขึ้นไป ใน 1 ปีภาษี (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม) ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าเพื่อนโอนให้เพื่อน พ่อแม่ปู่ย่าตายายโอนให้ลูก ผู้รับก็จะต้องเสียภาษีการรับให้ถ้าทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่า 1,100,000 เยน

แต่อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะ ถ้าการโอนเงินระหว่างคนที่มีสายเลือดเดียวกันให้ลูกหลาน แล้วพิสูจน์ได้ว่าเงินที่ให้นำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอย่างค่าเทอม ค่าหอพัก ค่าน้ำไฟ ค่ากินอยู่ก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้ค่ะ 

 

ภาษีการรับให้ในญี่ปุ่นคำนวณยังไง?

ภาษีการรับให้ในญี่ปุ่นมี 2 อัตราค่ะ
1. 一般税率 อัตราภาษีทั่วไป
อัตราภาษีทั่วไปนี้ ใช้คิดภาษีในกรณีที่
・ผู้ให้และผู้รับไม่มีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด
・ผู้ให้และผู้รับมีความเกี่ยวพันกันทางสายเลือดกรณีที่ผู้รับอายุน้อยกว่า20ปี ในปีภาษีค่ะ

ตารางอัตราภาษีทั่วไป
มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน อัตราภาษี ส่วนลดหย่อนเพิ่ม
น้อยกว่า 2,000,000 เยน 10% -
น้อยกว่า 3,000,000 เยน 15% 100,000 เยน
น้อยกว่า 4,000,000 เยน 20% 250,000 เยน
น้อยกว่า 6,000,000 เยน 30% 650,000 เยน
น้อยกว่า 10,000,000 เยน 40% 1,250,000 เยน
น้อยกว่า 15,000,000 เยน 45% 1,750,000 เยน
น้อยกว่า 30,000,000 เยน 50% 2,500,000 เยน
30,000,000 เยนขึ้นไป 55% 4,000,000 เยน

ตัวอย่างการคำนวณภาษีอัตราทั่วไป
ถ้ามีการมอบทรัพย์สินทีมีค่า 5,000,000เยน ระหว่างบุคคลที่ไม่ได้มีความสัมพันธุ์กันทางสายเลือด
มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน 
            = 5,000,000- 1,100,000 
            = 3,900,000 เยน
ภาษีรับให้อัตราทั่วไป  
            = (3,900,000 x 20%) -250,000 
            = 530,000 เยน


2. 特例税率 อัตราภาษีพิเศษ
อัตราภาษีพิเศษนี้ ใช้คิดภาษีกรณีที่ผู้ให้และผู้รับมีความเกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ปู่ย่าตายาย-หลาน พ่อแม่-ลูก พี่-น้อง เป็นต้น และผู้รับจะต้องมีอายุ 20ปี ขึ้นไปในปีภาษี อัตราภาษีก็จะถูกกว่าอัตราภาษีทั่วไปเล็กน้อยค่ะ

ตารางอัตราภาษีพิเศษ
มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน อัตราภาษี ส่วนลดหย่อนเพิ่ม
น้อยกว่า 2,000,000 เยน 10% -
น้อยกว่า 4,000,000 เยน 15% 100,000 เยน
น้อยกว่า 6,000,000 เยน 20% 300,000 เยน
น้อยกว่า 10,000,000 เยน 30% 900,000 เยน
น้อยกว่า 15,000,000 เยน 40% 1,900,000 เยน
น้อยกว่า 30,000,000 เยน 45% 2,650,000 เยน
น้อยกว่า 45,000,000 เยน 50% 4,150,000 เยน
45,000,000 เยนขึ้นไป 55% 6,400,000 เยน

ตัวอย่างการคำนวณภาษีแบบพิเศษ
ถ้ามีการมอบทรัพย์สินทีมีค่า 5,000,000เยน ให้กับบุคคลทางสายเลือดที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปในปีภาษี
มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน 
          = 5,000,000- 1,100,000 
          = 3,900,000 เยน
ภาษีรับให้อัตราพิเศษ  
         = (3,900,000 x 15%) -100,000 
          = 485,000 เยน

ตัวอย่างการคำนวณภาษีแบบทั่วไปและภาษีอัตราพิเศษในปีภาษีเดียวกัน
ถ้ารับมอบทรัพย์สินทีมีค่า 1,000,000เยน จากภรรยา และ รับมอบทรัพย์สินที่มีค่า 4,000,000เยน จากพ่อแม่ กรณีนี้แม้ว่าทรัพย์สินจากภรรยามีไม่ถึง 1,100,000 เยนก็จะต้องนำมารวมกับทรัพย์สินจากพ่อแม่แล้วมาคิดภาษีค่ะ
มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน 
          = 5,000,000- 1,100,000
           = 3,900,000 เยน
ภาษีรับให้(อัตราทั่วไป) 
           = (3,900,000 x 20%) -250,000 
           = 530,000 เยน
ภาษีรับให้(อัตราทั่วไป) ในส่วน 1,000,000 เยน 
            = (530,000 x 1,000,000)/(5,000,000) 
            = 106,000 เยน

มูลค่าหลังหักลดหย่อนภาษีพื้นฐาน 
        = 5,000,000- 1,100,000 
         = 3,900,000 เยน
ภาษีรับให้(อัตราพิเศษ) 
         = (3,900,000 x 15%) -100,000 
         = 485,000 เยน
ภาษีรับให้(อัตราพิเศษ) ในส่วน 4,000,000 เยน 
         = (485,000 x 4,000,000)/(5,000,000) 
         = 388,000 เยน

ภาษีรับให้(อัตราทั่วไป)+ภาษีรับให้(อัตราพิเศษ) 
         = 106,000 + 388,000 
         = 494,000 เยน


ส่วนเงินฝากธนาคารที่พ่อแม่ฝากให้ลูกเป็นทุนการศึกษาในอนาคตนั้น ถ้าเกินปีละ 1,100,000 เยนก็จะต้องเสียภาษีรับให้ค่ะ

ฝากเกินนี้มาทุกปีไม่เห็นมีเรียกเก็บภาษีเลย?

ภาษีตัวนี้รัฐบาลไม่ตรวจสอบแบบเป๊ะๆ ค่ะ ผู้รับมี“หน้าที่”แจ้งรายได้เพื่อเสียภาษีเองกับกรมสรรพากร ที่เรียกกันว่า 確定申告 คะคุเทชิงโคคุ ถ้าลูกยังอายุน้อยต่ำกว่า 18ปี ผู้ปกครองมีหน้าที่แจ้งรายได้เพื่อเสียภาษีการรับให้ค่ะ 

แล้วถ้าไม่แจ้งจะโดนอะไรไหม?

ในกรณีที่เจอจากการตรวจสอบภาษีก็อาจจะโดนเรียกเก็บภาษีพร้อมค่าปรับได้ค่ะ 

อยากเก็บเงินเป็นทุนการศึกษาให้ลูกทำยังไง?

ชาวญี่ปุ่น รวมถึงครอบครัวเราด้วย มักจะทำประกันการศึกษาให้ลูกค่ะ เป็นประกันเงินเก็บ หักจากบัญชีทุกเดือน หรือ ทุก6 เดือน เป็นเงินฝากระยะยาว แล้วจะได้คืนกลับทั้งหมดตอนลูกเข้ามหาวิทยาลัย และระหว่างทางการทำประกันก็จะมีปันผลเงินก้อนตามช่วง event ทางการศึกษาของลูก


ปล. จริงๆแล้วทั้งที่ไทยก็มีกฎหมายข้อนี้เหมือนกัน แต่ว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้นั้นต่างกันอย่างมหาศาลเลยล่ะค่ะ



Post a Comment

0 Comments