บันทึกมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น Ep.6 : การฉายรังสี และ ผลข้างเคียง (私の乳がん日記 Ep.6)


วันนี้เรามาโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งค่ะ มาเพื่อเข้าพบรังสีแพทย์และทำการฉายรังสีหลังการผ่าตัดมะเร็งเต้านม DCIS (ระยะ0) เราผ่าตัดแบบสงวนเต้า ตัดแค่เนื้อร้ายออกไป ถึงแม้ว่าจะตัดเอาส่วนที่เป็นเนื้อร้ายออกไปแล้ว คุณหมอก็ยังแนะนำแบบ Highly Recommend เลยค่ะ ว่าต้องมาฉายรังสีเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งซ้ำในเต้านมข้างเดิม 

ที่โรงพยาบาลเดิมไม่มีเครื่องฉายรังสีค่ะ คุณหมอเจ้าของไข้ของเราก็เลยเขียนจดหมายส่งตัว พร้อมทำนัดไว้ให้ เราก็เลยนำจดหมายส่งตัวพร้อมกับ CD บันทึกภาพ CT ที่ถ่ายไว้ก่อนผ่าตัดมาให้รังสีแพทย์ด้วย

เคสของเราในครั้งนี้คุณหมอพิจารณาแล้ว ให้เข้ารับการฉายรังสี 25ครั้ง (ปริมาณรังสีรวม 50 เกรย์) ให้ไปฉายที่โรงพยาบาลวันละ 1 ครั้ง ทุกวันยกเว้นเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ รวมๆแล้วก็น่าจะใช้เวลาสัก 5-6 สัปดาห์

คุณหมอเปิดภาพ CT ของเราที่อยู่ใน CD ให้ดูค่ะ และอธิบายแผนให้เราว่าเราจะต้องเข้าไปนอนบนเตียง และมีเครื่องฉายรังสีชื่อ TrueBeam ของบริษัท Varian ยิงรังสีไปที่เต้านมซ้ายของเรา ซึ่งการยิงรังสีจะไม่ยิงตรงๆ มาที่ร่างกายค่ะ จะยิงแนวเฉียงเพื่อให้โดนแค่บริเวณเต้านมของเราเท่านั้น 

และเพื่อให้การยิง Beam หรือลำแสงรังสีแม่นยำ เราต้องไปทำ CT Scan อีกครั้ง เพื่อลากเส้นกำหนดตำแหน่งแกนต่างๆ บนตัวเราแล้วคุณหมอจะนำข้อมูลไป Plot ตำแหน่งในการยิงลำแสงจริงให้ ซึ่งวันนี้ก็เป็น CT Scan แบบสบายๆ ไม่ต้องฉีดสารทึบแสง ไม่ต้องอดน้ำและอาหารด้วยค่ะ นอนเปลือยหน้าอกยกแขนขึ้นเหนือศีรษะแล้วคุณหมอจะเอาสีเมจิกมาเขียนเส้นที่ลำตัวเราค่ะ เตียงก็จะเลื่อนเข้าออกเครื่อง CT Scan นอนสบายๆ ไม่ต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกด้วย ใช้เวลา 5-10 นาทีก็เสร็จค่ะ หลังจากนั้นพยาบาลก็จะมาติดสติ๊กเกอร์เส้นสีดำไว้ให้เป็นการกำหนดเส้นค่ะ (สติ๊กเกอร์กันน้ำ อาบน้ำได้ปกติ)

หลังจากนั้นก็ไปเจาะเลือด และวัดคลื่นหัวใจเพื่อความมั่นใจอีกครั้ง แล้วกลับบ้าน มาอีกทีในวันฉายแสงเลย

การฉายรังสีก็อาจจะมีผลข้างเคียงทำให้เราอ่อนเพลีย ล้า ไม่อยากอาหาร และ เกิดการไหม้ที่ผิวหนัง แต่ทั้งหมดจะหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไปค่ะ  

ฉายแสงวันที่ 1

วันแรกเข้าพบคุณหมอก่อนเข้ารับการฉายแสงค่ะ คุณหมอเอาภาพที่ plot เพื่อฉายแสงมาให้เราดูค่ะ พร้อมทั้งแจ้งผลเลือด และ ผลคลื่นหัวใจที่ตรวจไปก่อนหน้านี้ ผลออกมาปกติค่ะ ไม่มีปัญหาอะไร ปัญหาที่เรามีค่อยข้างหนักคือ อาการแพ้สติ๊กเกอร์เส้นสีดำที่ทำสัญลักษณ์ไว้ ผิวเราแพ้มาก อักเสบมีผื่นขึ้น ซึ่งวันนี้ก็ได้ยามา และไม่ใช้สติ๊กเกอร์แล้ว ใช้การลากเส้นวาดลงบนตัวแทนค่ะ


พอถึงเวลาฉายแสง เราก็ต้องไปเปลี่ยนเสื้อและนอนบนแท่นเครื่องฉาย ถอดเสื้อออกและยกมือ 2 ข้างไปเหนือหัวเพื่อจับที่จับค่ะ พยาบาลก็จะมาจัดตำแหน่งการนอนให้ เพื่อให้แสงฉายไปยังเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ

ตอนเครื่องฉายแสง พยาบาลทุกคนจะออกไปนอกห้องค่ะ ให้เราอยู่กับเครื่องเพียงลำพัง 😂 เราไม่เห็นแสง หรือ รังสีที่ฉาย จะได้ยินแต่เสียง วี้ๆ ว่าเครื่องทำงาน เตียงที่เรานอนจะอยู่กับที่ มีแต่เครื่องส่วนที่ยิงแสงขยับเพื่อยิงค่ะ 

ฉายแสงวันที่ 5

ทุกวันเวลามาถึงโรงพยาบาล จะมีชีทสอบถามค่ะ ว่าเราเป็นอย่างไรบ้าง ฉายแสงเมื่อวานแล้วมีอาการอะไรไหม ตอนช่วงวันที่ 1-5 เราไม่ค่อยมีอาการค่ะ ไม่รู้สึกเพลีย ผิวไม่อักเสบแห้งคัน มีแต่อาการง่วงอยากนอน (สามีบอกว่านี่แค่ง่วงเฉยๆไหม? 😂)

จะมีก็แค่อาการเจ็บแปล๊บๆที่เต้านมซึ่งพยาบาลที่ญี่ปุ่นบอกว่าไม่เกี่ยวกับการฉายแสง แต่ว่าพอเราหาข้อมูลผลข้างเคียงจากการฉายแสงด้วยภาษาไทย เราเจอข้อมูลจาก รพ จุฬา บอกว่าอาการเจ็บเต้านมคือผลค้างเคียงอย่างหนึ่งค่ะ แต่ก็ไม่เจ็บมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ พอหยุดพักฉายแสงเสาร์อาทิตย์อาการก็ทุเลาลง

ฉายแสงวันที่ 10

ยังมีอาการง่วงอยากนอนเยอะๆ เหมือนทุกวัน ไม่แน่ใจว่าเพลียจากการเดินทางมา รพ ทุกวันหรือเปล่า วันนี้เป็นวันแรกค่ะ ที่เรารู้สึกว่าผิวเต้านมเรามีสีแดง คล้ำกว่าผิวอีกข้าง เริ่มมีอาการอักเสบของผิวแล้ว

คุณหมอให้ครีมน้ำนมทาผิวบริเวณที่ฉายแสงค่ะ เป็นมอยซ์เจอไรเซอร์ที่ใช้กันทุกบ้าน ถ้าหมอจ่าย 😂 


หมอให้ทาผิวแบบหลบๆ เส้นเมจิกที่เขียนไว้ค่ะ ไม่งั้นเส้นจะเลือนหายได้

แล้วหลังการฉายแสงครั้งที่ 11 เป็นวันแรกที่รู้สึกเพลียอย่างเห็นได้ชัดหลังกลับมาถึงที่บ้าน ไม่แน่ใจว่าเพราะร้อนหรือเรางดชานไข่มุกมา 3 วันเพราะกางเกงเริ่มฟิต 😂

ฉายแสงวันที่ 25
 
ในที่สุดก็ถึงวันสุดท้ายของคอร์สฉายแสงค่ะ วันนี้หลังฉายแสง ก็ต้องไป X-ray ปอด เพื่อเชคว่าปอดมีอาการอักเสบจากการฉายแสงหรือไม่ ผล X-ray ออกมาดีค่ะ ปอดปกติ

แต่ว่าผิวเต้านมข้างที่ฉายแสง ก็มีอาการอักเสบของผิวหนัง มีสีแดงเข้มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเหมือนผิวไหม้แดด คุณหมอเลยให้สเตียรอยด์ทาแก้อักเสบมาเพิ่มค่ะ และย้ำให้ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิว รอยแดงจะหายเป็นปกติในอีกครึ่งปีให้หลังค่ะ

หลังจากฉายแสงจบวันนี้ ก็พบคุณหมอพร้อมกับนัด Follow อีกทีเดือนหน้า

ก็เป็นอันว่าจบคอร์สการรักษามะเร็งเต้านม DCIS (ระยะ0) เป็นที่เรียบร้อย เย้ๆ


ข้อควรระวัง
ในระหว่างการเข้ารับการรักษาโดยการฉายแสง คือ เวลาเราป่วยอย่างเป็นหวัดแล้วไปพบคุณหมอ จะต้องแจ้งคุณหมอด้วยนะคะ ว่าเราทำการรักษาด้วยการฉายแสงอยู่เพื่อให้คุณหมอจ่ายยาที่ไม่มีผลกระทบได้ และ เพื่อเป็นการ double check ก็ให้นำชื่อยามาแจ้งที่โรงพยาบาลที่ทำการฉายแสงอีกทีว่าเรากินยานี้อยู่ไม่มีปัญหาใช่ไหม (ถ้าเรามีไข้จะไม่สามารถเข้ารับการฉายแสงได้ค่ะ) 

สรุป Time Line สักนิด
■xx มีนาคม 2019 :
อัลตร้าซาวด์เจอก้อนที่เต้านมซ้ายให้ Follow ปีถัดไป
■22 กุมภาพันธ์ 2020 :
Follow อัลตร้าซาวด์เต้านมเจอก้อนที่เต้านมซ้าย
■27 มีนาคม 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 1
■3 เมษายน 2020 :
เจาะก้อนเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 2
■16 เมษายน 2020 :
คอนเฟิร์มผลแลป มะเร็งเต้านมระยะ 0
■27 เมษายน 2020 :
นัดทำ CT Scan
■1 พฤษภาคม 2020 :
ฟังผล CT Scan และ นัดวันผ่าตัด
■27 พฤษภาคม 2020 :
ตรวจ PCR (covid-19)
■29 พฤษภาคม 2020 :
แจ้งผล PCR
■1 มิถุนายน 2020 :
แอดมิทเตรียมตัวผ่าตัด
■2 มิถุนายน 2020 :
ผ่าตัด
■6 มิถุนายน 2020 :
ออกจากโรงพยาบาลกลับบ้าน
■16 มิถุนายน 2020 :
ฟังผลชิ้นเนื้อ
■24 มิถุนายน 2020 :
พบรังสีแพทย์เพื่อปรึกษา
■8 กรกฎาคม 2020 :
ฉายแสงครั้งที่ 1
■18 สิงหาคม 2020 :
ฉายแสงครั้งที่ 25
Ep ถัดไปเราจะมาดูรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลกันค่ะ




Post a Comment

0 Comments