บันทึกมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น Ep.1 : การตรวจคัดกรองสำคัญที่สุด (私の乳がん日記 ep1)


มันเป็นความรู้สึกอึ้งๆ อย่างบอกไม่ถูกค่ะ เมื่อคุณหมอแจ้งผลตรวจชิ้นเนื้อว่า “มะเร็ง” (癌 : กัง) แล้วเราก็กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งในตอนที่อายุไม่ถึง 40 ปี ไปอย่างงงๆ

พักเรื่องอาการและรายละเอียดการรักษาไว้ก่อนนะคะ มาดูกันก่อนดีกว่าว่าทำไมเราถึงเข้ารับการตรวจคัดกรองแล้วเจอมะเร็งได้ไว ซึ่ง Point นี้เป็นสิ่งสำคัญมากๆๆๆๆ ยิ่งเจอไว ยิ่งมีโอกาสหายมาก ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีตรวจคัดกรองที่ดีมากค่ะ

เริ่มแรกเราเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี(健康診断:เคงโคชินดัน) ที่บริษัทบังคับทุกคนให้เข้าตรวจ และด้วยอายุอานามแล้วก็สมควรที่จะตรวจสุขภาพชุดใหญ่(人間ドック: นิงเก็งด๊อคคุ) และ มะเร็งเต้านมเพิ่มเข้าไปด้วย การตรวจมะเร็งเต้านมที่ญี่ปุ่น(ที่ไทยด้วย)นอกจากการตรวจโดยสัมผัสเต้านมจากแพทย์แล้ว ก็สามารถตรวจเพิ่มเติมด้วย

1. การอัลตร้าซาวด์(超音波検査:โชอมปะเคนสะ) 
การตรวจแบบนี้ เรียกอีกอย่างว่า เอคโค่ (エコー) ค่ะ เป็นการตรวจเต้านมโดยการทาเจล แล้วเอาอุปกรณ์อัลตร้าซาวด์มากลิ้งๆ บนเต้านม เพื่อดูความผิดปกติของเต้านม แบบนี้ไม่เจ็บค่ะ เย็นๆสบายๆ เกือบจะหลับเลย 


2. แมมโมกราฟฟี่ (マンモグラフィー) 
เป็นการตรวจเต้านมโดยใช้เครื่องบีบเต้านมแล้วตรวจเพื่อหาหินปูนในเต้านมค่ะ เรายังไม่เคยตรวจแบบนี้ แต่ได้ยินมาว่าเจ็บค่ะ 



แล้วทีนี้เลือกตรวจแบบไหนดีล่ะ??? ในทางเทคนิคอลลึกๆแล้ว การตรวจทั้ง 2 แบบมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกันค่ะ ความผิดปกติบางอย่างจะตรวจเจอจากการอัลตร้าซาวด์แต่ไม่เจอในการตรวจแมมโมกราฟฟี่ เช่น อัลตร้าซาวด์จะเห็นว่าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำ ในทางกลับกันความผิดปกติบางอย่างเอคโค่ก็ไม่เห็น จะเห็นในแมมโมกราฟฟี่เท่านั้น เช่นจุดของหินปูน ดังนั้น การตรวจคัดกรองที่ดีและครอบคลุมที่สุดคือ ตรวจทั้ง 2 อย่างนั่นเองค่ะ

แต่ๆๆๆ ถ้าเราไม่ได้มีความเสี่ยงและอายุไม่ถึง 40ปี ที่ญี่ปุ่นก็บอกว่าตรวจแค่อัลตร้าซาวด์อย่างเดียวได้ค่ะ บางที่อาจจะให้สูตรสลับตรวจปีละอย่างก็ว่ากันไป

ส่วนแอดมินนั้นป๊อดจ้า กลัวเจ็บก็เลยตรวจอัลตร้าซาวด์มาตลอด 3 ปี ในปีแรกตรวจไวมากค่ะ ลากเครื่องผ่านปรี๊ดๆๆ จบ ผลปกติ พอปีที่ 2 เริ่มไม่ลากปรี๊ดๆ จบเหมือนปีแรกแล้วอะ เจอก้อนผิดปกติอยู่ พยาบาลก็วนๆ จนเราใจแป้วว่ามีอะไรแน่ๆ แต่ผลตรวจจากหมอกลับมาว่าให้คอย Follow  ยังไม่ต้องตรวจละเอียดเพิ่ม

แต่แล้วก็มา Jackpot กันในการตรวจครั้งที่3 ต้นปีที่ผ่านมาค่ะ เจอก้อนเหมือนปีที่แล้วแหละ แต่ผลปีนี้มีคำแนะนำให้ไปตรวจละเอียด(精密検査 เซมิตสึเคนสะ)เพิ่มเติม ไม่ใช่รอ Follow แบบปีก่อนแล้ว...


จากนั้นเดือนถัดมา เราก็นัดหมอที่โรงพยาบาลเดิมเพื่อไปตรวจเต้านมอย่างละเอียดเพิ่มเติม ตอนแรกก็คิดว่าการตรวจเพิ่มเติมคือการทำ แมมโมกราฟฟี่ ที่เราไม่เคยทำเพราะกลัวเจ็บมาตลอด แต่ว่าไม่ใช่ค่ะ

การตรวจละเอียดครั้งที่1 คือ Fine Needle Aspiration(FNA) การเอาเข็มฉีดยาขนาดเท่าเข็มเจาะเลือด เจาะเข้าไปที่เต้านมเพื่อดูดเอาเซลล์จากก้อนที่ไม่ปกติ ไปตรวจเซลล์ที่ห้องแลป ระหว่างที่เจาะคุณหมอก็จะดูตำแหน่งของเข็มและก้อนที่ไม่ปกติของเราด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ ซึ่งเราก็เห็นภาพบนจอตอนเจาะด้วย เป็นการเจาะสดไม่ได้ใช้ยาชา แล้วนัดฟังผลไม่เกิน 1 สัปดาห์

วันนัดฟังผลเราก็ยังเชื่อค่ะ ว่ามันก็คือก้อนดีนั่นแหละ ไม่มีอะไรหรอก แต่ปรากฎว่าผลตรวจเซลล์นั้น มีโอกาสเป็นก้อน Fibroadenoma(線維腺腫 เซนอิเซนชุ)ที่ไม่ใช่มะเร็ง และมีส่วนที่บอกว่ามีโอกาสเป็น DCIS (Ductal carcinoma in situ :มะเร็งเต้านมชนิดไม่ลุกลาม) ปนมาด้วย ยังบอกผลไม่ได้ ให้เจาะชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มอีกค่ะ 



การตรวจละเอียดครั้งที่2 นี้ คือ Core Needle Biopsy(CNB) จะ Hardcore กว่าครั้งแรกค่ะ ไม่ใช่แค่เจาะ 1 เข็มแล้ว คุณหมอบอกว่า จะใช้เข็มขนาดเท่าหัวปากกาลูกลื่น เจาะเข้าไปเหมือนคราวที่แล้วนะ แต่ครั้งนี้เข็มใหญ่เราจะฉีดยาชาให้ก่อน คุณหมอก็ให้เราไปนอนที่เตียงที่มีเครื่องอัลตราซาวด์เหมือนทุกครั้ง แต่หมอไม่ให้ดูจอแล้ว บอกให้หันเข้ากำแพงไปดีกว่า หลังจากยาชาออกฤทธิ์ เราก็ไม่รู้สึกเจ็บแต่จะรู้สึกเหมือนมีอะไรแทงเข้ามาแล้วก็ได้ยินเสียงคลิ๊กตอนเข็มดูดออกไป ซ้ำๆๆๆ อยู่ประมาณ 6 ครั้ง (ได้ยินคุณหมอพูดกับพยาบาลตอนเจาะเข็มไหนไม่รู้ว่า ไขมันเหรอ?? 😂) หลังจากเจาะเสร็จต้องกดแผลห้ามเลือดอยู่สักพักค่ะ แล้วเต้านมเราจะเขียวช้ำราวๆ 1-2 สัปดาห์)

พอดีกับเต้านมที่โดนเจาะหายเขียวช้ำ ก็ได้เวลาไปฟังผลแลป เราก็ยังเชื่อว่าไม่มีอะไร แต่สามีเราไม่คิดงั้นแล้ว ฮีตามไปนั่งฟังผลด้วย และผลตรวจก็พบว่าเป็นเซลล์มะเร็ง เรากลายเป็นผู้ป่วย “มะเร็งเต้านม” ระยะเริ่มต้น หรือ DCIS

คอนเฟิร์มเคส : Tis cN0 M0 (DCIS)



สรุป Time Line สักนิด
■xx มีนาคม 2019 :
อัลตร้าซาวด์เจอก้อนที่เต้านมซ้ายให้ Follow ปีถัดไป
■22 กุมภาพันธ์ 2020 :
Follow อัลตร้าซาวด์เต้านมเจอก้อนที่เต้านมซ้าย
■27 มีนาคม 2020 :
เจาะชิ้นเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 1
■3 เมษายน 2020 :
เจาะชิ้นเนื้อในเต้านมตรวจละเอียดครั้งที่ 2
■16 เมษายน 2020 :
คอนเฟิร์มผลแลป มะเร็งเต้านมระยะ 0

ถึงแม้ว่ามันเป็นระยะเริ่มต้น (初期:โชะคิ) หรือ เสตจ 0 ที่รักษาหายได้เกือบ 100% ก็ทำให้คนธรรมดาอย่างเรา อึ้งไปสักพักอย่างไม่ทันตั้งตัวค่ะ เพราะเราเองไม่มีอาการบ่งชี้ หรืออาการนำอะไร คนในครอบครัวก็ไม่มีประวัติการเป็นมะเร็งเต้านมด้วย แต่เราตรวจเจอก้อนมะเร็งขนาด 7 mm ที่เต้านมด้านซ้าย และต้องเข้ารับการรักษาต่อไป...

เราอยากเน้น อยากย้ำกับผู้หญิงทุกๆคนที่อายุ35ปี+ หรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมเลยนะคะ ว่าให้เข้ารับการตรวจคัดกรองทุกปี แม้ว่าไม่มีอาการบ่งชี้ หรือยังไม่เจอก้อน เพราะสำคัญมากๆ เราเองก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะเป็นผู้ป่วยมะเร็งในอายุที่ยังขึ้นต้นด้วยเลข 3 (แม้จะปลายๆแล้ว 😂) มะเร็งเต้านมรักษาหายได้ถ้าเราเจอมันเร็วนะคะ


Ep ถัดไปเราจะมาเล่าถึงก้อนมะเร็งที่เราตรวจเจอค่ะ ว่าคืออะไรยังไง



Post a Comment

0 Comments