ในวันขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นมักจะกลับบ้านเกิดและใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ล้อมวงทานอาหารมงคลในวันขึ้นปีใหม่ หรือ โอะเซะจิเรียวริ(おせち料理)ด้วยกันค่ะ
สมัยก่อนว่ากันว่าชาวญี่ปุ่นไม่ได้ทานโอะเซะจิเรียวริแค่ในช่วงวันปีใหม่ค่ะ แต่จะทานปีละ 5 ครั้ง ในวันเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือ วันผลัดเปลี่ยนฤดูกาล เพื่อเป็นการขอบคุณพระเจ้า ขอบคุณธรรมชาติ ผืนดิน ผืนป่า ภูเขาและท้องทะเล วัฒนธรรมการทานโอะเซะจิเรียวริเริ่มแพร่หลายทั่วไปในช่วงปลายสมัยเอโดะค่ะ
โดยปกติแล้วชาวญี่ปุ่นจะทานโอะเซะจิเรียวริ ตั้งแต่วันที่ 1-3 มกราคมค่ะ เพราะมีความเชื่อว่าพระเจ้าต้องการให้แม่บ้านได้หยุดพักจากงานบ้านในช่วงปีใหม่ 3 วันนี้ ก็เลยมีวัฒนธรรมการทานโอะเซะจิเรียวริ และอาหารที่อยู่ในเซตโอะเซะจิเรียวริก็จะมีแต่อาหารที่เก็บได้นานหลายวันค่ะ พร้อมทั้งความหมายมงคลเพื่อเริ่มต้นปีใหม่อีกด้วย
โอะเซะจิเรียวริ จะจัดเป็นเซตอยู่ในกล่องซ้อนกัน มีความหมายว่า สั่งสมความยินดี(めでたさを重ねる) แบบดั้งเดิมเลยจะเป็นกล่องซ้อนกัน 5 ชั้น แต่ปัจจุบันเรามักจะเห็นกล่อง 3 ชั้นเป็นส่วนใหญ่ค่ะ โดยแต่ละชั้นก็จะชื่อเรียกเฉพาะ และใส่อาหารตามที่กำหนดไว้เท่านั้น
ชั้นที่1 อาหารทานเล่น :一の重 祝い肴、口取り
ชั้นที่ 1 นี้จะใส่ของทานเล่นอย่างคามาโบะโกะ และอาหารที่เหมาะกับการเฉลิมฉลองค่ะปลาแฮริ่งหรือ Nishin พ้องเสียงกับคันจิ 二親の子 นิชินโนะโกะ คือลูกของพ่อแม่ และมีจำนวนไข่เยอะมาก ก็มีความหมายว่าขอให้มีลูกเยอะ รายล้อมไปด้วยลูกหลานมากมาย
ปลาซาดีนแห้ง:田作り ทะทสึคุริ
สมัยโบราณชาวญี่ปุ่นใช้ปลาซาดีนตากแห้งบดละเอียดเป็นปุ๋ยโรยในไร่นา เพื่อให้ได้ผลผลิตมากมายค่ะ ก็เลยเรียกว่า 田作り ทะทสึคุริ แปลว่าทำนา ก็มีความหมายว่าขอให้มีผลผลิตมากมาย
ถั่วดำ:黒豆 คุโรมาเมะ
คำว่า มาเมะ พ้องเสียงกับคำว่าขยันขันแข็งค่ะ
ทาทาคิโกะโบ:たたきごぼう
โกะโบ เป็นผักชนิดหนึ่งของญี่ปุ่นค่ะ มีรากยาวฝังลึกลงในดิน มีความหมายว่าขอให้รากฐานของบ้านคงทน
คามาโบโกะขาวแดง:紅白かまぼこ โคฮะคุคะมะโบโกะ
สีแดงคือสีปัดเป่าความชั่วร้าย สีขาวแสดงถึงความบริสุทธิ์
ไข่ม้วน:伊達巻 ดาเทะมากิ
รูปร่างม้วนของไข่เปรียบเสมือนคัมภีร์โบราณ มีความหมายว่าขอให้มีความรู้เพิ่มพูน
สาหร่ายคอมบุม้วน:昆布巻き คอมบุมากิ
ออกเสียงคล้ายคำว่า โยโรโคุบุ ที่แปลว่า ความยินดี
เกาลัดหวาน:栗きんとん คุริคินตง
ในสมัยโบราณมี 勝ち栗 คะจิคุริ เกาลัดแห่งชัยชนะ เป็นของนำโชค และ คินตง เขียนคันจิได้ว่า 金団 แปลว่าฟูกทอง หมายความว่าขอให้มั่งคั่งร่ำรวย
อาร์ติโชก:ちょろぎ โจะโระกิ
พ้องเสียงกับคันจิ 長老喜 มีความหมายว่าขอให้อายุยืนยาว
ชั้นที่2 ของย่าง :二の重 焼き物
ชั้นที่2 จะใส่ของที่เป็นมงคล ของนำโชค ที่ได้มาจากท้องทะเลเป็นหลักค่ะปลาหางหลือง:ぶり บุริ
ปลาหางเหลือง หรือ ปลาบุริ เป็นปลาที่มีชื่อเรียกต่างกันตามขนาดตัวค่ะ เมื่อตัวโตขึ้นเปลี่ยนชื่อเรียก มีความหมายว่าขอให้ได้เป็นใหญ่เป็นโต
กระพงแดง :鯛 ไท
พ้องเสียงกับคำว่า เมะเดะไท น่ายินดี
กุ้ง:エビ เอบิ
มีความหมายว่าให้อายุยืนยาวจนแก่เฒ่าหลังค่อมเหมือนกุ้ง
ชั้นที่3 ของดอง : 三の重 酢の物,和え物
ชั้นที่3 นี้จะใส่ของดองที่เก็บไว้ได้นานแครอท ไช้เท้าดอง:紅白なます โคฮะคุนะมะสึ
เป็นสัญลักษณ์แทน ริบบิ้นหน้าซองแบบญี่ปุ่น 水引 หมายความถึงความปลอดภัย สงบสุข
ชั้นที่ 4 ของต้ม:与の重 煮物
ชั้นที่4 นี้ จะใส่ของต้มที่ได้จากวัตถุดิบจากภูเขาเป็นหลักค่ะ มีความหมายให้ความผูกพันธ์ของครอบครัวแน่นแฟ้นซึมลึกลงไป 与の重 อ่านว่า โยะโนะจู ที่ใช้คันจิตัวนี้เพราะเลข4 ที่อ่านว่า ชิ นั้นไปพ้องเสียงกับคำว่าตายซึ่งไม่เป็นมงคลค่ะรากบัว:れんこん เรนกอง
รากบัวมีรูเยอะค่ะ ความหมายคือขอให้อนาคตราบรื่นผ่านฉลุย
เผือก:里芋 ซาโตะอิโมะ
ไม่ได้หมายความว่าเผือกรอบรู้ไปทุกเรื่องนะคะ แต่เผือกออกผลเยอะ ความหมายก็คือขอให้มีลูกหลานเยอะๆ ค่ะ
ชั้นที่5 ของที่ชอบ หรือ ว่างเปล่า : 五の重 空 or 好きなもの
ชั้นที่5 นี้จะใส่ของที่ชอบตามใจเรา หรือ จะปล่อยว่างก็ได้ค่ะเป็นอย่างไรบ้างคะ วัฒนธรรมการทานอาหารมงคลโอะเซะจิเรียวริ แบบฉบับคนญี่ปุ่น ตัวแอดมินเองไม่ถนัดการทำอาหารค่ะ ก็เลยไม่เคยได้ทำโอะเซะจิเรียวริทานเองที่บ้าน ก็อาศัยไปทานที่บ้านแม่สามีช่วงวันปีใหม่ค่ะ บ้านที่เคร่งๆ ก็จะใช้ตะเกียบเดิมในการทานโอะเซะจิเรียวริ 3 วัน แบบไม่ล้างด้วยนะคะ เก็บใส่ซองกระดาษเขียนชื่อไว้ ก็พระเจ้าอยากให้พักผ่อนไม่ทำงานบ้านอะเนอะ
ที่บ้านแอดมินนอกจากโอะเซจิเรียวริแล้ว ยังทานโอะโซนิ(お雑煮)ด้วยค่ะ เป็นซุปอุ่นๆที่ใส่ผักรวมและโมจิลงไป ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงอากาศหนาวตอนปีใหม่นั่นเองค่ะ
สมัยโบราณคุณแม่ของแต่ละบ้านก็จะเป็นคนเตรียมโอะเซะจิเรียวริเองที่บ้านให้คนในครอบครัวทานค่ะ แต่ในปัจจุบันยุคสมัยก็เปลี่ยนไป บ้านที่คุณแม่บ้านไม่สะดวกจะทำโอะเซะจิเรียวริเอง ก็จะใช้บริการจัดเซตโอะเซะจิเรียวริตามห้างร้านแทนค่ะ สนนราคาตั้งแต่ 10000+ เยน ไปจนถึง 30000+ เยน เลยค่ะ
0 Comments