เมื่อแม่ลูกพร้อมใจกันติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A ในประเทศญี่ปุ่น 😷(親子でA型インフルエンザかかってしまった)


เป็นครั้งแรกในชีวิตเลยค่ะ สำหรับการติดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A 😷 แถมยัง Double Jackpot ติดทั้งแม่ลูก ส่วนคุณพ่อรอดอยู่คนเดียวทั้งบ้าน ทั้งๆที่ฉีดวัคซีนกันไปครบตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว


แต่ก็อย่างที่เคยเกริ่นไปนะคะ ว่าถึงจะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไปแล้วก็ไม่ได้ป้องกันได้ 100% แต่ถ้าติดเชื้อแล้วอาการที่เกิดขึ้นจะเบากว่าไม่ได้ฉีดค่ะ


อาการโดยรวมครั้งนี้ ลูกสาวจะหนักไปที่ไอ มีไข้สูง 38-39องศา ซึมๆบ้างตอนไข้สูง มีบ่นปวดท้องนิดหน่อย แต่ไม่มีอาการอาเจียน หรือท้องเสียร่วม ส่วนคุณแม่ก็หนักที่ไอ กับน้ำมูกเยอะ มีไข้สูงถึง 38 องศา ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดไปทั่วตัว แต่ไม่มีอาการปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียนค่ะ

ทีนี้แอดมินจะมาเล่าให้ฟังค่ะ ว่าโดยทั่วๆไป ถ้าคนที่มาอยู่ที่ญี่ปุ่นอย่างถูกคนกฎหมายจ่ายค่าประกันสุขภาพ ประกันสังคมครบ เวลาไม่สบายไปหาหมอจะได้รับบริการอะไรยังไงกันบ้าง

คลินิกที่แอดมินไปประจำคือคลินิกเอกชนเล็กๆ แถวบ้าน ซึ่งมีคุณหมอเด็กประจำ 1 คน และตรวจโรคทั่วไปด้วย คือไปทีเดียวได้ตรวจทั้งแม่ลูก และคุณหมอก็ใจดีใจเย็น คลิ้กกันค่ะ ที่ญี่ปุ่นถ้าเด็กยังไม่เข้าประถมศึกษาจะต้องหาหมอเด็กเท่านั้นค่ะ ถ้าไปคลินิกหมอทั่วไปก็จะไม่รับตรวจให้ค่ะ ที่คลินิกนี้มีห้องตรวจ 1 ห้อง แล้วก็เตียงให้นอนพักชั่วคราว 2 เตียง พยาบาลอีก 3-4 คน แล้วก็มีเครื่องเอ็กซเรย์อยู่เครื่องนึง


เวลาไปหาหมอที่ญี่ปุ่นนอกจากบัตรประจำตัวคนไข้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่ต้องพกไปด้วยเสมอคือ

1. บัตรประกันสุขภาพ (健康保険書, 国民健康保険書)
จะเป็นแบบไหนก็ขึ้นกับว่าเราจ่ายประกันระบบไหน ถ้าไม่มีประกันสุขภาพเราจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเองทั้งหมด 100% ค่ะ แต่ถ้ามีประกันสุขภาพแล้วเราก็จ่ายเอง 30% (กรณีผู้สุงอายุจ่ายเอง10%)

2. บัตรลดหย่อนค่ารักษาพยาบาลของเด็ก (子供医療費受給者証)
ได้จากสำนักงานเขตค่ะ แต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน และจะส่งใบใหม่มาให้ทุกๆ ปี เขตที่แอดมินอาศัยอยู่ จะ Support ค่ารักษาพยาบาล(OPD)ที่เกินจากประกันสุขภาพให้เหลือค่ารักษาครั้งละ 400 เยน ค่ายาครั้งละ 400 เยน หมายความว่า ลูกจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่ายาต่อครั้งรวมกันไม่เกิน 800 เยนค่ะ แต่ถ้าภายในเดือนเดียวกัน มีการป่วย มาหาหมอมากกว่า 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 เป็นต้นไปจะฟรีค่ายาและค่ารักษา ส่วนถ้าต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็จะฟรีค่ะ

3. สมุดยาประจำตัว (おくすり手帳)
ได้จากร้านขายยาเวลาเราไปซื้อยาตามที่คุณหมอสั่งค่ะ ทางร้านขายยาจะติดสติ๊กเกอร์ยาที่เคยจ่ายให้เราไว้ ทั้งชื่อยา ปริมาณยา วันที่ที่จ่ายยา เป็นต้น

พอไปถึงคลินิกแอดมินก็แจ้งกับพยาบาลที่เค้าเตอร์ว่ามาหาหมอเป็นหวัดทั้งคู่ ก็จะได้ปรอทมาให้เราวัดไข้ค่ะ พอวัดไข้เองเสร็จก็ไปแจ้งพยาบาลอีกที วันนี้แอดมินไข้ 38.2 (ลูกสาวชิวๆ 37.5)พยาบาลเลยเชิญคุณแม่ไปนอนรอคิวที่เตียงด้านในค่ะ ส่วนลูกก็วิ่งไปหยิบนิทานมานั่งอ่านรัวๆ รอคิวตรวจ

เมื่อถึงคิวตรวจพยาบาลก็จะมาเรียกค่ะ ก็เดินไปห้องตรวจ คุณหมอก็ตรวจและสอบถามอาการทั่วไปค่ะ แล้วก็บอกว่าช่วงนี้ไข้หวัดใหญ่ระบาด ขอตรวจเลยนะ วิธีการตรวจก็เอาคอตต้อนบัตยาวๆ มาสอดเข้าไปในจมูกลึกสุดๆ เพื่อนำสารคัดหลั่งไปตรวจค่ะ ขอบอกว่าขั้นตอนนี้เจ็บเล็กน้อย แม่ทนได้ แต่ลูกร้องไห้ไปแล้ว 555

รอผลสัก 5 นาทีค่ะ คุณหมอก็เรียกเข้าพบแล้วบอกว่า พบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์A ให้หยุดงาน หยุดเรียนกัน 5 วันนะ ไม่งั้นจะไปแพร่เชื้อคนอื่น แล้วก็เขียนใบสั่งยาให้

ของลูกสาวได้Tamiflu ส่วนคุณแม่ได้เป็น Laninamivir Octanoate Hydrate แบบสูด ... ใช่ค่ะ แบบสูด งง ไปเลยสิคะ 555 ถามหมอว่าฉีดยาได้ไหม? หมอบอกว่าไม่มียาฉีดให้จ้า ไปสูดยาที่ร้านขายยาเอานะ หืมมมมม??

ค่ารักษาพยาบาลวันนี้ 2 คนรวม 400+1580 = 1980 เยน (หลังใช้ประกันทั้งหมดของแม่ลูกแล้ว)

หลังจากชำระเงินแล้ว ก็ได้ใบสั่งยา ให้ไปร้านขายยาใกล้ๆ เพื่อซื้อยา และ สูดยาค่ะ (คลินิกที่แอดมินไปหาเป็นคลินิกเล็กๆ ก็เลยไม่จ่ายยาให้ค่ะ ไปซื้อยาจากร้านขายยาที่กำหนดแทน) พอปถึงร้านขายยา(ที่ไม่ใช่แบบ Matsumoto kiyoshi หรือ Tsuruha อะไรแบบนั้น)ก็ต้องยื่นสมุดบันทึกยาประจำตัว และ บัตรประกันสุขภาพให้เช่นกันค่ะ แล้วก็ใบสั่งยาจากคุณหมอด้วย หลังจากนั้น ทางเภสัชกรจะเข้าไปเตรียมยาให้เรา พอเรียบร้อยก็จะออกมาอธิบายยา วิธีกินยาให้เราฟัง พร้อมกระดาษคำอธิบายให้เรานำกลับบ้าน


อย่างที่บอกไปนะคะว่า ของลูกสาววันนี้ได้ Tamiflu 1 ชุด แล้วก็ยาขยายหลอดลม(Meptin) ยาขับเสมหะ(carbocisteine) ยาลดน้ำมูก(Terguin G) อีก 1 ชุด ที่ญี่ปุ่นมักจัดยาเป็นผงให้เด็กค่ะ แบ่งใส่ซองพลาสติกใส ตามน้ำหนักยาและ เขียนกำกับหน้าซองว่าให้กินเมื่อไหร่ ทางเภสัชกรบอกว่าที่ไม่ค่อยให้ยาน้ำเพราะมันเก็บรักษายากกว่าแล้วก็เก็บรักษาได้ไม่นานเท่าแบบผงด้วย (ยาลดไข้(Acetaminophen)ให้กินของเดิมที่มี)


แต่บางทีก็รู้สึกว่าจะกินยากนิดนึงค่ะ ก็ต้องมีตัวช่วยอย่างเยลลี่สำหรับช่วยกินยา มีหลายรสชาติค่ะ (ราคาแพงกว่ายาอีก 😂) รสผลไม้ผสมได้กับยาทั่วไป แต่ถ้ามียาปฏิชีวนะ (抗生物質 Kousei bushitsu) แนะนำให้ผสมรสช้อกโกแลตค่ะ ผสมรสผลไม้จะขมมาก



ส่วนที่แม่ได้มาเป็นยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชื่อ Laninamivir Octanoate Hydrate แบบสูดยาเข้าทางปาก โดย 1 ขวดจะมียาอยู่ใน 2 กระเปาะ ต้องสูดยา 2 ขวด ราคาขวดละ 2179.5เยน ค่ะ ที่ร้านยาเลย แปลกดี (หลังจากนั้นก็ไม่มียาต้านไวรัสแล้ว) ให้นั่งสูดที่ร้านขายยาเลยค่ะ ภายใต้การดูแลของเภสัชกร


ยาอื่นๆได้ ยาขับเสมหะ(carbocisteine) ยาแก้แพ้(Transamin) ยาแก้ไข้ (Acetaminophen) แล้วก็ยาขยายหลอดลมแบบแผ่นแปะ(Tulobuterol Tape2mg.) แผ่นเล็กๆ 2x2 cm แปะร่างกายช่วงบนตรงไหนก็ได้ บอกว่าจะช่วยให้หายใจดีขึ้นค่ะ แอดมินว่ายาแรงเหมือนกัน แปะที่ต้นแขนทีนึง รู้สึกว่าแขนสั่นๆไม่ค่อยมีแรงเลย (น่าจะเป็นเอฟเฟคยา)


ราคายาทั้งหมดหลังจากใช้ประกันแล้ว รวมกันแม่ลูก 400+1850 = 2250 เยน ค่ะ

รวมค่ารักษา+ค่ายา(สำหรับ5 วัน)
ลูกสาว 800 เยน
แม่ 3430 เยน

สำหรับผลการรักษา แอดมินว่าดีทีเดียวค่ะ ไม่ได้หายเป็นปลิดทิ้งในวันเดียว เพราะ ไวรัสก็มีระยะเวลาของมัน แต่ไข้ลงไวมากหลังจากได้Tamiflu และ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ Inabiru ค่ะ วันรุ่งขึ้นก็แทบไม่มีไข้ปวดตัวแล้ว เหลืออาการไอ น้ำมูกที่เหมือนอาการหวัด แล้วก็ยังเพลียๆ นิดหน่อย (ก่อนได้Tamiflu ลูกสาวไข้ขึ้นๆลงๆ ตลอด มีไปแตะ 39.3 ด้วย)

จริงๆแล้ว หลังจากทานยาครบ4วัน ผลการรักษาเป็นไปด้วยดีไม่มีไข้แล้วก็ไม่ต้องมาพบหมอก็ได้ แต่เนื่องจากที่เนอสเซอรี่ที่ลูกสาวไปต้องใช้ใบรับรองแพทย์(意見書 Ikensho)ว่าพ้นระยะแพร่เชื้อแล้วถึงให้กลับไปเรียนได้ ก็เลยต้องไปพบคุณหมออีกครั้งขอใบรับรองค่ะ


ข้อควรระวังมากๆๆๆ สำหรับบ้านที่มีเด็กเป็นไข้หวัดใหญ่ คือ ห้ามปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวนะคะ เพราะนอกจากไข้สูงแล้ว เด็กๆอาจจะมีพฤติกรรมผิดปกติจากพิษไข้ เช่น วิ่งพุ่งตัวออกไป หรือ กระโดดจากระเบียงโดยไม่มีสาเหตุ ซึ่งก็เพิ่งอุบัติเหตุผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เด็กมัธยมต้นพลัดตกจากแมนชัน 12 ชั้นเสียชีวิต (คุณแม่อยู่ในบ้านด้วย) มีการสันนิษฐานว่าเป็นเพราะพิษไข้ และปีที่ผ่านมาก็มีเคสพฤติกรรมผิดปกติจากพิษไข้มากถึง 72 เคสเลยค่ะ



ช่วงนี้ไข้หวัดกำลังระบาดที่ญี่ปุ่นมากๆ ถ้าใครมีไข้สูง ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตัว สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่ก็รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจและเข้ารับการรักษานะคะ

Post a Comment

0 Comments