育児ノイローゼ อิคุจิโนะอิโรเซ่ หรือ ภาวะความผิดปกติทางจิตจากการเลี้ยงดูบุตร (Childcare Neurose)


วันนี้แอดมินมีคำศัพท์ที่น่าสนใจมาฝากคุณแม่ๆในญี่ปุ่นทุกท่านค่ะ (คุณแม่ท่านอื่นๆก็อ่านได้นะคะ) นั่นก็คือคำว่า 育児ノイローゼ อิคุจิโนะอิโรเซ่ หรือ Childcare Neurose แปลเป็นภาษาไทยได้ว่าภาวะความผิดปกติทางจิตจากการเลี้ยงดูบุตร

แอดมินเองก็เพิ่งเคยได้ยินคำศัพท์คำนี้เมื่อเร็วๆ นี้เองค่ะ มีน้องแม่บ้านในญี่ปุ่นที่สนิทกันส่งมาให้ดู แล้วก็บอกว่า “หนูเข้าข่ายอะพี่” หืมมม???

เชคกันสักนิดว่าคุณแม่เข้าข่าย Childcare Neurose หรือไม่
# เชคชีทสำหรับคุณแม่
・หงุดหงิดง่าย
・รู้สึกว่าลูกไม่น่ารัก
・ไม่มีรอยยิ้มให้ลูก
・น้ำตาไหลโดยไม่รู้สาเหตุ
・นอนไม่หลับทั้งๆที่ง่วง
・อภัยให้ตัวเองไม่ได้
・ไม่มีกระจิตกระใจจะทำอะไร
・ไม่อยากออกนอกบ้าน
・ไม่อยากเจอใคร
・ไม่สนใจเรื่องที่ก่อนหน้านี้เราเคยชอบมาก่อน



ตรงกับคุณแม่ๆกี่ข้อกันบ้างคะ?

ถ้าคุณแม่ตอบ YES มากกว่าครึ่งแสดงว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะมีภาวะ Childcare Neurose ค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตอบ YES 8-10 ข้อแล้ว ควรไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญค่ะ (5-7 ข้อ คือมีแนวโน้มและถ้าอาการแย่ลงก็อาจจะเป็น Childcare Neurose ได้)

แล้วจริงๆเจ้า 育児ノイローゼ อิคุจิโนะอิโรเซ่ หรือ Childcare Neurose มันคืออะไรละเนี่ย??? เราลองไปทำความรู้จักพร้อมๆกันดูค่ะ

Childcare Neurose คือ อะไร?
ถ้าให้คำจำกัดความกว้างๆแล้ว ก็คือความรู้สึกกังวลไม่ปลอดภัยที่เกิดกับคุณแม่ในระหว่างการเลี้ยงลูกค่ะ ในบางกรณีอาจจะรู้สึกว่าอาการคล้ายกับโรคซึมเศร้าด้วย เราจะคุ้นเคยกับโรคมาม่าบลู หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรมากกว่านะคะ จริงๆแล้ว มาม่าบลู หรือ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดบุตรก็จัดเป็นภาวะความผิดปกติทางจิตจากการเลี้ยงลูก(Childcare Neurose) ประเภทหนึ่งค่ะ แต่ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะเกิดจากฮอร์โมนและความเครียดหลังคลอดบุตร แต่Childcare Neurose จะเกิดได้กับคุณแม่เลี้ยงลูกในช่วงอายุอื่นๆด้วย คุณแม่ที่ลูกเข้าอนุบาล หรือ เข้าประถมแล้วก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้เช่นกันค่ะ

อาการที่เกิดจากภาวะนี้ จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่คุณแม่ส่วนมากจะรู้สึกกังวลและเสียความมั่นใจในการเลี้ยงลูกไปค่ะ


สาเหตุของการเกิดภาวะ Childcare Neurose
ว่ากันว่าสาเหตุอย่างหนึ่งก็คือสภาวะสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไปค่ะ อย่างครอบครัวในสมัยนี้ส่วนมากจะอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยว ไม่ได้อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเป็นครอบครัวใหญ่ พอคุณพ่อออกไปทำงาน และคุณแม่ต้องดูแลลูกคนเดียวโดยไม่มีคนมาช่วยผลัดเปลี่ยน หรือ มีคนพูดคุยด้วยก็จะทำให้เกิดอาการเครียดได้ (แต่บางทีอยู่กันครอบครัวใหญ่ๆ ก็อาจจะเครียดอย่างอื่นแทนเนอะ 😂)

ยิ่งเป็นคุณแม่คนไทยในญี่ปุ่น ห่างบ้านเกิดเมืองนอนมา ภาษาก็ไม่ใช่ภาษาแม่ แถมสามีก็ทำงานหนักกลับดึก สังคมเพื่อนๆแบบที่เมืองไทยก็ไม่มี (อะไรจะชอกช้ำปานนี้) ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้เกิดความเครียดสูงขึ้นไปอีกค่ะ

สาเหตุอีกอย่างหนึ่งคือ SNS หรือ Social Network อย่าง facebook หรือ ig ก็มีส่วนเพิ่มความเครียดให้เราได้นะคะ ยิ่งเราเห็นคุณแม่รอบข้างสวยๆ ดูเนี้ยบๆ ก็อาจจะทำให้เราเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบ ทำให้คุณแม่สูญเสียความมั่นใจในการเลี้ยงลูก แล้วก็เครียดได้เหมือนกันค่ะ


คุณแม่ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นภาวะ Childcare Neurose คือใครกันบ้างนะ????
1. คุณแม่ที่เลี้ยงลูกคนเดียวเป็นหลักค่ะ คุณพ่อบ้านสไตล์ญี่ปุ่นทำงานนอกบ้านอย่างเดียว แล้วปล่อยให้คุณแม่รับผิดชอบทุกอย่างภายในบ้าน อย่างงานบ้านและเลี้ยงลูกคนเดียว 24ชั่วโมง โดยไม่มาผลัดเปลี่ยนหรือ แบ่งเบาภาระ คุณแม่ไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวเพื่อคลายเครียด ไม่ได้ออกไปทำงานมีสังคม หรือ ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ

2. คุณแม่ที่มีความเครียดอย่างอื่นเข้ามาด้วย ในทางกลับกันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วยจะไม่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะ Childcare Neurose นะคะ เพราะความเครียดเหนื่อยล้าจากการทำงานนอกบ้าน ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน ถ้าคุณพ่อบ้านไม่ช่วยแบ่งเบาภาระในบ้าน

3. คุณแม่ที่เป็น Perfectionist คาดหวังว่าทุกอย่างจะต้อง Perfect ไม่มีข้อผิดพลาด บ้านสะอาดสวยปิ๊งเหมือนในละคร ลูกจะต้องเชื่อฟัง เป็นเด็กดี ช่วยงานบ้านทุกอย่าง อะไรแบบนี้ แต่ชีวิตจริงไม่เหมือนในละครค่ะ พอไม่มีความเป๊ะก็จะเริ่มกดดันตัวเอง ก็จะยิ่งทำให้เกิดความเครียดได้ค่ะ

วิธีป้องกันภาวะ Childcare Neuroseนี้ ในแบบฉบับแม่บ้านไทยในญี่ปุ่น
จริงๆแล้ววิธีการป้องกันก็คือหาวิธีผ่อนคลาย คลายเครียดค่ะ เช่น นอนหลับให้เพียงพอ ปรึกษาเพื่อนแม่ๆ คุยกับสามี อะไรแบบนี้ แต่แม่บ้านในญี่ปุ่นเองก็มีข้อจำกัดอื่นๆ มากกว่าแม่บ้านญี่ปุ่นทั่วไปเนอะ แอดมินขอแชร์วิธีคลายเครียดที่คิดว่าเหมาะกับแม่บ้านไทยในญี่ปุ่นมาให้เป็นไอเดียกันค่ะ

1. คุยกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว ที่เมืองไทยค่ะ Line, Facetime, Skype คือ ขอให้คุยเป็นภาษาไทยได้ค่ะ ความเครียดจะลดลงมากๆเลยทีเดียว

2. ถ้าเลี้ยงลูกเองคนเดียวไม่ไหว ขอความช่วยเหลือจากปู่ย่าไม่ได้ ลองไปขอความช่วยเหลือจากตายายกันดูบ้างค่ะ ขอวีซ่าให้คุณตาคุณยายขึ้นมาช่วยเลี้ยงหลาน วีซ่าขอได้ 3 เดือน และมายื่นเรื่องต่ออายุที่ญี่ปุ่นอาจจะได้อีก3 เดือน รวมเป็น 6 เดือนค่ะ (ปีนึงจะอยู่ได้ไม่เกิน6 เดือน)
#ข้อมูลเอกสารการขอวีซ่าเยียมญาติ

3. ดูละครไทยค่ะ Youtube เปิดเลยดูได้ฟรีค่ะ แอดมินชอบดูละครช่อง 3 ได้ฟังภาษาไทยบรรยากาศไทยๆ แล้วคลายเครียดดีมากๆ
#ละครช่อง3

4. ไปร้านเสริมสวยค่ะ เข้าร้านเสริมสวยทำผม ให้ลองหาร้านทำผมที่มี Kids Space หรือบริการดูแลลูกเล็กให้ระหว่างทำผม (託児サービス) ให้ลองหาจาก Hotpepper หาร้านใกล้บ้านเราค่ะ
#รีวิวร้านซาลอนสำหรับคุณแม่

5. ชวนเพื่อนแม่บ้านคนไทยปาร์ตี้อาหารไทยกันค่ะ เม้ามอยภาษาไทยหายเครียดแน่นอน หรือ จะชวนไปคาเฟต์ทานขนมอร่อยๆกัน ในบรรยากาศสบายๆ ก็ดีนะคะ
#รีวิวคาเฟต์

6. สำหรับผู้ที่รักเสียงเพลง ก็ไปคาราโอเกะกันดีกว่าค่ะ คาราโอเกะเดี๋ยวนี้มีห้องสำหรับเด็กเล็กไปได้ด้วย เพื่อให้คุณแม่ได้คลายเครียดค่ะ
#รีวิวร้านคาราโอเกะคุณแม่คุณลูก

7. ปรึกษาเขตที่คุณแม่อาศัยอยู่ค่ะ ที่ศูนย์ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตร (子育てて支援センター Kosodate Shien Center)

สุดท้ายถ้าสงสัยว่าเรามีอาการนี้ ควรจะลองไปพูดคุย ปรึกษากับคุณหมอนะคะ ถ้าไม่ค่อยได้ภาษาญี่ปุ่น หรือสะดวกไปพบแพทย์ญี่ปุ่น ลองใช้แอพพลิเคชันปรึกษานักจิตวิทยาไทยดูก่อนก็ได้ค่ะ
https://ooca.co

อย่าปล่อยให้อาการหนักจนเป็นโรคซึมเศร้านะคะ ไม่ได้มีคุณเครียดคนเดียว คุณแม่คนอื่นๆ ก็ประสบปัญหาความเครียดเช่นเดียวกันค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง
https://hataraku-mama.xyz/ikuji-neurose-symptoms/
https://ricon-pro.com/magazine/70/#toc_anchor-1-1





Post a Comment

0 Comments